xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตเหล็กปรับราคาขึ้นไตรมาส 2 นี้ เหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครนดันวัตถุดิบพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



SSI เผยสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้วัตถุดิบทั้งสินแร่เหล็กและถ่านโค้กหายไปจากตลาด ดันราคาเหล็กในยุโรปถีบตัวสูงขึ้น 10-20% แนะรัฐเร่งแผนเหล็ก 4.0 สร้างความยั่งยืนอุตสาหกรรมเหล็กและเศรษฐกิจของประเทศ ชี้ผู้ประกอบการไทยจ่อปรับราคาสะท้อนต้นทุนในช่วงไตรมาส 2 นี้ ขณะที่ภาพรวมความต้องการใช้เหล็กในไทยโต 5%

นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (SSI) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเหล็กโลกได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนสินแร่เหล็กและถ่านโค้กปรับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กต่างๆ ไปทั่วโลกรวมกันประมาณ 58 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 8% และ 4% ของปริมาณการส่งออกเหล็กของทั้งโลก ดังนั้น หากสถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อจะส่งผลให้อุปทานของผลิตภัณฑ์เหล็กส่วนนี้หายไป รวมกับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กโลกปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ขณะนี้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กในยุโรปได้ปรับตัวสูงขึ้น 10-20% แล้ว อาทิ ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในยุโรปปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1,000-1,100 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากเดิมช่วงหลังตรุษจีนราคาอยู่ที่ 843 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในอินเดีย จีน และญี่ปุ่นหันไปส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กป้อนยุโรปมากขึ้น มีผลให้ปริมาณเหล็กในภูมิภาคเอเชียหดหายไป กดดันให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กในภูมิภาคนี้ต้องปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น


สำหรับประเทศไทย ผู้ประกอบการเหล็กของไทยได้ลดการนำเข้าสินแร่เหล็กจากรัสเซียและยูเครนมาตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ได้รับผลกระทบทางตรงไม่มาก แต่ผลกระทบทางอ้อมรุนแรงกว่า เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกสินแร่เหล็กและถ่านโค้กที่สำคัญของโลก จึงได้รับผลกระทบเป็นโดมิโน อย่างไรก็ตาม บริษัทผลิตเหล็กในไทย พยายามปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์เหล็กให้ช้าและน้อยที่สุดเนื่องจากยังมีสำรองวัตถุดิบเหลืออยู่แต่มีปริมาณไม่มาก แต่หากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีข้อยุติในเร็ววัน เชื่อว่าราคาเหล็กจะมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปถึงไตรมาส 3 นี้

ถึงแม้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กจัดเป็นสินค้าควบคุมแต่ไม่มีเพดานราคากำหนดไว้ ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการเหล็กในการชะลอการปรับขึ้นราคา แต่เนื่องจากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาผลิตภัณฑ์เหล็กขึ้นราว 10-20% ในช่วงไตรมาส 2 นี้เพื่อสะท้อนต้นทุนตามกลไกตลาด

นายนาวากล่าวว่า เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยมีความยั่งยืน ภาครัฐควรเร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ซึ่งเป็นแผนที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย โดยมีสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเป็นที่ปรึกษา ได้ยื่นต่อกระทรวงอุตสาหกรรม และได้มีการนำเสนอแผนต่อคณะทำงานศึกษาแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างยั่งยืนเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา รวมถึงแผนเร่งด่วนที่ควรเร่งดำเนินการ เช่น การควบคุมการตั้งโรงงานสินค้าเหล็กบางประเภท อาทิ เหล็กแผ่นรีดร้อน ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตล้นเหลือ (Overcapacity) และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization) ต่ำ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลได้ควบคุมห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต

รวมทั้งขยายผลการส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศในโครงการร่วมลงทุนภาครัฐ-เอกชน (PPP) ด้วย นอกเหนือจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากโครงการ PPP มีมูลค่าการลงทุนที่สูงมาก โดยแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563-2570 (แผนร่วมลงทุน) มีรายการโครงการที่ประสงค์จะร่วมลงทุนทั้งหมดรวม 110 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท ซึ่งหากสามารถสนับสนุนให้ใช้สินค้าในประเทศได้จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศ

สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้เหล็กโลกในปี 2565 อยู่ที่ 1,896.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.2% จากปี 2564 ที่โลกมีการใช้เหล็กรวม 1,855.4 ล้านตัน โดยจีนยังคงเป็นประเทศที่มีการบริโภคเหล็กสูงสุด 985.1 ล้านตัน ส่วนประเทศไทยความต้องการใช้เหล็กปี 2564 อยู่ที่ 18.64 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 12.8% โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าเหล็กพุ่งขึ้น ขณะที่การใช้กำลังการผลิตในประเทศยังคงมีอัตราต่ำ คาดว่าปี 2565 ไทยมีความต้องการใช้เหล็กโตขึ้น 5% อยู่ที่ 19.6 ล้านตัน เป็นผลจากการขยายตัวของการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ

"ภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยนั้น ในปี 2564 ความต้องการใช้สินค้าเหล็กของไทย 18.64 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.8% จากปี 2563 โดยการนำเข้าสินค้าเหล็กขยายตัวถึง 19.1% ในขณะที่มีการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศเพิ่มเพียง 5.6% และอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานเหล็กในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำมากที่ 32.5% อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. ได้คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการใช้จะปรับตัวขึ้นเป็น 19.6 ล้านตัน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 5% จากปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง"

นายนาวากล่าวถึงแผนการดำเนินธุรกิจของ SSI ว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายการขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนอยู่ที่ 1.39 ล้านตัน โตขึ้น 15% จากปีก่อนที่มีปริมาณการขายอยู่ที่ 1.2 ล้านตัน พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของทุกกลุ่มลูกค้าต่อเนื่อง โดยในปี 2564-2565 บริษัทมีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากกว่า 20 โครงการ เช่น โครงการเหล็กสำหรับท่อโครงสร้างแข็งแรงสูง โครงการเหล็กโครงสร้างสำหรับเชื่อมประกอบต้านทางการกัดกร่อน โครงการพัฒนาเหล็กแรงดึงสูง เพื่อรองรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องการใช้เหล็กน้ำหนักเบาและแข็งแรงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น