xs
xsm
sm
md
lg

สรส.-สหภาพฯ รฟท.ยื่นค้าน กม.ขนส่งทางราง ชี้รับฟังความเห็นไม่ทั่วถึง-เปิดช่องแปรรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สรส.-สหภาพฯ รฟท.ลั่นค้าน พ.ร.บ.ขนส่งทางรางถึงที่สุด ยันปกป้องประโยชน์ของประชาชน ย้ำเห็นด้วยพัฒนาระบบรางของประเทศ แต่ต้องรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องก่อน และแก้ไขให้อำนาจกรมรางที่ซ้ำซ้อนหน่วยปฏิบัติ

วันนี้ (9 มี.ค. 2565) เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเพื่อให้ยับยั้งการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ....

สำหรับแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... และดำเนินการตามกระบวนการแห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด มีรายละเอียด ว่า           จากพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ “พระปิยมหาราช” ที่มีสายพระเนตรอันยาวไกลเพื่อความเจริญของบ้านเมือง ได้ทรงโปรดให้มีกิจการรถไฟเพื่อเป็นการขยายความเจริญออกสู่หัวเมือง เพื่อประโยชน์ในการเดินทางของพสกนิกรทั่วทุกสารทิศ นับจากวันที่พระองค์ท่านทรงกระทำพิธีตอกหมุดตรึงราง เป็นเวลายาวนานกว่า 125 ปีจวบจนปัจจุบัน นับเป็นคุณูปการที่เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติและประชาชน ดังพระราชดำรัสที่พระองค์ตรัสไว้ให้พสกนิกรเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2434 ได้สำนึกถึงเสมอว่า

“เรา รู้สำนึกแน่อยู่ว่าธรรมดาความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนย่อมอาศัยถนน หนทางไปมากันเป็นใหญ่ เป็นสำคัญ เมื่อมีถนนหนทาง คนจะไปมาได้ง่ายได้ไกล ได้เร็วขึ้นเพียงใด ก็เป็นการขยายชุมชนให้ไพศาลยิ่งขึ้นเพียงนั้น ...เราจึงได้อุตส่าห์คิดจะทำทางรถไฟให้สมกำลังบ้านเมือง”

ในการดำเนินกิจการรถไฟแผ่นดินหรือรถไฟหลวง จวบจนมาเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน มีกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้การดำเนินกิจการให้บริการแก่ประชาชนเป็นไปโดยระเบียบเรียบร้อย ดังเช่น พระราชบัญญัติการจัดวางการรถไฟและทางหลวงพระพุทธศักราช 2464 และพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ใช้บังคับ เพื่อเป็นกลไกที่ให้รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการให้บริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค ที่รัฐพึงมีหน้าที่จัดหาให้ประชาชนผู้อยู่ในปกครอง และดำเนินการนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟอันเป็นประโยชน์ต่อรัฐ และประชาชน

จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ...เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 โดยมีหลักการและเหตุผล “เพื่อให้มีบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมกำกับดูแลกิจการขนส่งทางราง ให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง การบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่นๆ ให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์ ”

โดยก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือไปให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยหน่วยงานต่างๆ ได้ให้ความเห็นและข้อสังเกตโดยให้มีการทบทวนเนื้อหา มิให้มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เช่น บรรดาสิทธิ อำนาจหน้าที่ของกรมการขนส่งทางราง ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ

กรมการขนส่งทางราง ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลนโยบายเกี่ยวกับมาตรฐานการประกอบกิจการขนส่งทางราง มาตรฐานทางด้านความปลอดภัย มาตรฐานการให้บริการ และการกำหนดอัตราค่าบริการ เพื่อควบคุมและกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมขนส่งทางรางและการบริหารจัดการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ แต่มีการกำหนดให้อำนาจหน้าที่กรมการขนส่งทางรางมากเกินกว่าหน่วยงานกำกับดูแล ( Regulator ) และอาจมีผลให้กรมการขนส่งทางรางเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการขนส่งทางรางนั้นเอง จึงควรมีการพิจารณาทบทวนในรายละเอียดที่ชัดเจนและคำนึงถึงการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่และอำนาจ ให้กรมการขนส่งทางรางใช้ในการกำกับดูแลในกิจการขนส่งทางรางให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายอื่น

เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ พ.ศ. ... ที่ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เห็นว่าในเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อหน่วยงานต่างๆ ของรัฐหลายภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ ซึ่งในเรื่องของการตรากฎหมายและหลักการมีส่วนร่วมต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 77  เสียก่อน

โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ให้เป็นไปตามขั้นตอนอย่างทั่วถึงและรอบด้าน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของสังคมและประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการหลักการมีส่วนร่วมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด

ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ พ.ศ. ... มีเจตนามุ่งหมายเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องมาตรฐานด้านต่างๆ และการสร้างมาตรฐานให้เป็นสากลแก่ระบบขนส่งทางราง แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กลับมีบทบัญญัติที่มีความซ้ำซ้อน ขัดแย้งกับบรรดาสิทธิ และอำนาจหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์กร

โดยกำหนดให้ “ให้บรรดาอำนาจ สิทธิและประโยชน์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติฉบับนี้การขนส่งทางราง พ.ศ. ....” เท่ากับว่าร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางรางฯ ที่ออกมาซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่การรถไฟฯ ถือใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการจำกัดอำนาจ และสิทธิของการรถไฟฯ

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการมีกฎหมายเพื่อกำกับดูแล และพัฒนามาตรฐานด้านระบบการขนส่งทางราง เนื่องจากเป็นระบบการขนส่งที่มีความสำคัญในอนาคต แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ... แล้ว กลับมีเนื้อหาที่มีความซ้ำซ้อน และไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผลของการร่างกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งกระบวนการในการตรากฎหมายไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด สร.รฟท.จึงขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... จนถึงที่สุด

และขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณายับยั้งกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องระบบการขนส่งทางรางของรัฐให้มีความมั่นคง และยั่งยืน เป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และ ประชาชนต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น