บอร์ด กทพ.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินสร้างทางด่วนกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต คาดเริ่มเวนคืนปลายปี ตั้งงบกว่า 5,700 ล้านบาททยอยจ่ายชดเชย ส่วน PPP เร่งตั้ง กก.36 ร่าง RFP เปิดประมูลต้นปี 66 พร้อมเคาะรับโอนโครงการสะพานพระสมุทรเจดีย์ผุดทางด่วน 4.4 หมื่นล้าน
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ที่มี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานผ่านระบบออนไลน์ วันที่ 25 ม.ค. 65 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ กทพ.เสนอตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 3.98 กม. วงเงินลงทุน 14,670.57 ล้านบาท ขั้นตอนต่อจากนี้จะเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ การเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนฯ พ.ศ. 2562 มีหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ได้แก่ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง กทพ. รวมถึงการจัดทำแผนที่ท้ายร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ซึ่งทำเสร็จแล้ว คงเหลือรอความเห็นจากสำนักงบประมาณเพื่อประกอบร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนนำเสนอ คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ภายใน 2-3 เดือน หลังจากนั้นจะเสนอกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่าง คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ พ.ร.ฎ.เวนคืนภายในปี 2565 จากนั้นจะเริ่มเข้าพื้นที่สำรวจและจ่ายค่าทดแทน โดยมีกรอบงบค่าเวนคืน 5,792 ล้านบาท งบปี 2566-2567 พื้นที่เวนคืนจำนวน 192 แปลง สิ่งปลูกสร้างจำนวน 221 หลัง ผู้ถูกเวนคืนที่ดินจำนวน 104 ราย
สำหรับการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุน คาดว่าจะตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในเดือน ก.พ.-มี.ค. เนื่องจากต้องรอ สคร.ประกาศขั้นตอนการดำเนินการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact: IP) ซึ่งคาดว่า สคร.จะเสนอ ครม.ในเดือน ก.พ. ส่วนการจัดทำร่างเอกสารประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชน (RFP) คาดว่าจะเสนอบอร์ด กทพ.พิจารณาในเดือน พ.ค.-มิ.ย. จากนั้นจะนำร่างเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ และเสนอคณะกรรมการมาตรา 36 พิจารณาต่อไป
คาดว่าจะประกาศ RFP ประมูลได้ในต้นปี 2566 ได้ตัวผู้ร่วมทุนในต้นปี 2567 โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี เนื่องจากโครงสร้างจะมีทั้งทางยกระดับ และอุโมงค์ ซึ่งมีระยะเวลาก่อสร้างรวม 4 ปี ติดตั้งระบบ 1 ปี ระยะเวลาดำเนินการ 30 ปี
@เคาะรับโอนโครงการสะพานพระสมุทรเจดีย์ ปรับเป็นทางด่วน 4.4 หมื่นล้าน เตรียม MOU รับมอบแบบ
นอกจากนี้ บอร์ด กทพ.ยังได้รับทราบหลักการที่ กทพ. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินแนวทางลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม โดยใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) เพื่อช่วยลดภาระงบประมาณรัฐบาล ซึ่งได้พิจารณาโครงการมีศักยภาพ เป็นโครงการที่เป็นทางเลือกในการเดินทาง สามารถจัดเก็บค่าผ่านทาง มีความเป็นไปได้ในการลงทุน เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐ เบื้องต้นจากที่ ทช.ได้เสนอ 6 โครงการคัดกรอง เหลือ 3 โครงการที่จะนำมาศึกษารายละเอียด ได้แก่ โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ-จ.สมุทรสาคร, โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา (สงขลา-พัทลุง) ระยะทาง 7 กม. มูลค่า 5,200 ล้านบาท, โครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุย-อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ระยะทาง 18 กม. มูลค่า 36,000 ล้านบาท
คาดว่าในเดือน ก.พ.จะมีการลงนามความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันของ 3 หน่วยงาน คือ กทพ. ทล. ทช. และรับมอบแบบ โดย กทพ.จะเริ่มที่โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ-จ.สมุทรสาคร-จ.สมุทรสาคร ของ ทช. ซึ่งจะมีการส่งมอบแบบที่ ทช.ศึกษาเพื่อนำมาพิจารณาร่วมกับโครงข่ายเชื่อมต่อ MR 10 (โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3) ของ ทล. ซึ่งจะมีการปรับแนวที่ ทช.ออกแบบไว้เดิม ตั้งแต่แยกถนนแพรกษา ไปจนถึง ถ.วงแหวนรอบ 3 ของ ทล. ซึ่งเป็นแนว MR 10 โดยหลัง MOU จะมีการหารือร่วมกันกับกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ตามข้อตกลงเบื้องต้นโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ-จ.สมุทรสาคร นั้น ทช.จะรับผิดชอบเส้นทางตั้งแต่ ถนนพระราม 2 กม.38 จ.สมุทรสาคร ต.บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร มาจนถึงถนนประชาอุทิศ วัดคู่สร้าง จากนั้นเป็นส่วนที่ กทพ.จะรับผิดชอบ เริ่มจากถนนประชาอุทิศ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา-ถนนแพรกษา-ถนนบางนา-ตราด ระยะทางประมาณ 34 กม. วงเงินประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ หลังเลือกเส้นทางแล้ว กทพ.จะศึกษารายละเอียดโครงการต่อไป