ครม.อนุมัติทางด่วน "กะทู้-ป่าตอง" วงเงิน 1.46 หมื่นล้านบาท "ศักดิ์สยาม" เผยไทม์ไลน์ก่อสร้างปี 67 เปิดบริการ ก.พ. 71 ด้าน กทพ.เร่งตั้ง กก.มาตรา 36 ร่าง TOR เตรียมชงบอร์ด 25 ม.ค.อนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืน เตรียมพื้นที่เจาะอุโมงค์ เพิ่มทางเลือกเดินทางลดอุบัติเหตุและเพิ่มเส้นทางอพยพภัยพิบัติ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ม.ค. 2565 มีมติอนุมัติโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 14,670.57 ล้านบาท โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะดำเนินการภายใต้รูปแบบคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ทั้งนี้ ตามแผนงาน กทพ.จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ประมาณ 24 เดือน (ก.พ. 2565-ม.ค. 2567) ในขณะเดียวกันจะดำเนินการขั้นตอนการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 33 เดือน (ก.พ. 2565-ต.ค. 2567) และดำเนินการก่อสร้างช่วงเดือน ก.พ. 2567 แล้วเสร็จเปิดให้บริการเดือน ก.พ. 2571
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้เห็นชอบ EIA เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2561 และที่ผ่านมา กทพ.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการเสนอโครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนให้ความเห็นชอบโครงการเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564 และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 และได้รับการอนุมัติให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เรียบร้อยแล้ว
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติให้ กทพ.ดำเนินโครงการทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง และอนุมัติค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง วงเงิน 5,792.24 ล้านบาท โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact: IP) พร้อมกันนี้ จะเร่งทำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนของโครงการฯ เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ในการประชุมวันที่ 25 ม.ค. 2565 เห็นชอบ จากนั้นจะเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนฯ เสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป
ตามแผนงานคาดว่าคณะกรรมการมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 จะจัดทำร่างเอกสารประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชน (RFP) และประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) คาดว่าจะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุนได้แล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างในต้นปี 2567 โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี เนื่องจากโครงสร้างจะมีทั้งทางยกระดับ และอุโมงค์ ซึ่งมีระยะเวลาก่อสร้างรวม 4 ปี และติดตั้งระบบ 1 ปี ระยะเวลาดำเนินการ 30 ปี ตามแผนงานจะเปิดให้บริการเดือน ก.พ. 2571
รายงานข่าวเผยว่า โครงการมีวงเงินรวม 14,670.57 ล้านบาท แบ่งเป็นงบเวนคืนที่ดิน วงเงิน 5,792 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง วงเงิน 8,678 ล้านบาท มีพื้นที่เวนคืน จำนวน 192 แปลง สิ่งปลูกสร้าง จำนวน 221 หลัง ผู้ถูกเวนคืนที่ดิน จำนวน 104 ราย
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะดำเนินการภายใต้รูปแบบคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยโครงการทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มเส้นทางการเดินทางระหว่างตัวเมืองฝั่งตะวันออก ของภูเก็ตไปยังหาดป่าตองให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว ลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้น เนื่องจาก สภาพเส้นทางที่ลาดชันและคดเคี้ยว และใช้เป็นเส้นทางอพยพกรณีเกิดภัยพิบัติ (เช่น กรณีเกิดสึนามิ)
มีลักษณะ/รูปแบบ เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับ มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวเส้นทาง ระยะทางรวม 3.98 กม. เป็นทางพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับ ถ.พระเมตตา ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการฯ ในพื้นที่ ต.กะทู้ อ.กะทู้ มีทางขึ้น-ลง 2 แห่ง และมีด่านเก็บค่าผ่านทางตั้งอยู่บริเวณ ต.กะทู้ 1 ด่าน
สำหรับรูปแบบการลงทุน เป็นลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ การออกแบบ รายละเอียดและการก่อสร้าง และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) โดยเอกชนจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มดำเนินงาน พร้อมทั้งให้เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ค่าผ่านทาง ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี
“โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต คาดการณ์จะใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 5 ปี (พ.ค. 2565-ก.ค. 2570) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสัญจรแก่ประชาชนในพื้นที่ตลอดจนนักท่องเที่ยว และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศเป็นไปตามการสนับสนุนการพัฒนา จ.ภูเก็ต ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อีกด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังย้ำในที่ประชุม ครม.ว่า การลงทุนของภาครัฐทุกโครงการ ทั้งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการไฟฟ้าชุมชน และโครงการอื่นๆ ประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุด โดยให้เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยตรง" นายธนกรกล่าว