xs
xsm
sm
md
lg

พระราม 2 กระอัก!กทพ.ขึงแนวเกาะกลางระดมตอกเข็มด่วน”พระราม3”เร่งสัญญา1,3 เสร็จปี67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเพจโครงการฯสัญญา 2
กทพ.ได้ฤกษ์ 10 ม.ค.ระดมตอกเข็มสัญญา 1,3 ทางด่วน”พระราม3-ดาวคะนอง”บีบเลนยึดเกาะกลางตลอดแนวพระราม 2 เร่งสปีดให้ทันสัญญา 2,4 ตั้งเป้าเสร็จปี 67 ส่วนงานระบบ M-Flow คาดเปิดประมูลในกลางปีนี้

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ว่า หลังจากที่กทพ.ได้ลงนามก่อสร้าง สัญญาที่ 1 งานทางยกระดับ จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กม. กับกิจการร่วมค้ายูเอ็น-ซีซี  วงเงิน 7,350 ล้านบาทและ  สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี  วงเงิน 7,359.3 ล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 แล้วนั้น ล่าสุด กทพ.ได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) กับผู้รับจ้างทั้ง 2 สัญญาแล้ว โดยจะเริ่มก่อสร้าง ในวันที่ 10 ม.ค.2565 นี้

ซึ่งสัญญา 1 และ 3 นั้นมีระยะเวลาการก่อสร้าง 34 เดือน (1,020 วัน) หรือสิ้นสุดประมาณเดือนพ.ย. 2567 ซึ่งมีเวลาก่อสร้างสั้นกว่า สัญญา 2,4 มีระยะเวลาก่อสร้าง 1,170 วัน และเริ่มก่อสร้างไปก่อนหน้าประมาณ 1 ปี โดยกทพ.จะพยายามปรับแผนเร่งรัดการก่อสร้าง เพื่อลดช่องว่างงานก่อสร้าง ของสัญญา 2,4 ที่ก่อสร้างไปก่อนหน้า กับ สัญญา 1,3 ที่เพิ่งเริ่มก่อสร้างให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้งานโยธาทั้ง 4 สัญญา แล้วเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน
 ส่วนแผนจัดการจราจรเพื่อลดผลกระทบระหว่างก่อสร้าง นั้น ผู้ว่าฯกทพ.กล่าวว่า แนวการก่อสร้างของโครงการทางด่วนฯ จะอยู่บนเกาะกลางของถนนพระราม 2 โดยจะบริหารจัดการจราจร เพื่อลดผลกระทบระหว่างก่อสร้าง และ ใช้ประสบการณ์การบริหารจัดการ ในการก่อสร้างของสัญญาที่ 2 ,4 มาปรับใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ ผู้รับเหมาสัญญาที่ 1 ได้เริ่มดำเนินการปิดเบี่ยงจราจร บนถนนพระราม 2 ช่องจราจรขวาสุด ฝั่งขาเข้า และ ฝั่งขาออก ชิดเกาะกลางถนน โดยใช้แบริเออร์กั้นเป็นแนวเขตก่อสร้าง และจะมีการลบเส้นจราจรเดิม และ ตีเส้นจราจรใหม่ ช่วง กม.6+631 ถึง กม.8+600 (บริเวณคลองราชมนตรี)

สำหรับโครงการก่อสร้างทางด่วน สายพระราม3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตกระยะทาง 18.7  กม. วงเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น 5 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 - 4 เป็นงานโยธา และสัญญาที่ 5 เป็นงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและระบบควบคุมการจราจร

โดยสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับ จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2  ( กม. 13+000 -กม.6+630 ) ระยะทางรวม 6.369 กม. มีกิจการร่วมค้า ยูเอ็น - ซีซี ประกอบด้วย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง และสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง (ก่อสร้างคร่อมไปตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณ ระยะทาง 5 กม. มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี เป็นผู้รับจ้าง เตรียมเริ่มก่อสร้าง
สัญญาที่ 2  งานก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร จากเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 
ตั้งแต่ กม.6+600 ถึงบริเวณทางแยกต่างระดับดาวคะนอง ระยะทาง 5.3 กม. มีกิจการร่วมค้าซีทีบี (บริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คัมปานี ลิมิเต็ด, บริษัท ทิพากร จำกัด  และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด) เป็นผู้รับจ้าง ร ผลงาน ณ เดือน ธ.ค. 2564 คืบหน้า  25.70% เร็วกว่าแผน 0.20% (แผนงาน 25.50 %)  

 สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างสะพานขึงขนาด 8 ช่องจราจร ช่วงสะพานยาว 450 เมตร สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ระยะทาง 2 กม. ระยะเวลาก่อสร้าง 1,170 วัน) มีบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้รับจ้างผลงาน ณ เดือน ธ.ค. 2564 คืบหน้า 61.30 % เร็วกว่าแผน 0.15% (แผนงาน 61.15%)   

  ส่วนสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างทีโออาร์ ให้เป็นระบบ M-Flow ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเปิดประมูลช่วงกลางปี 2565 

โครงการทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกฯด้านตะวันตก มีโครงสร้างเป็นทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร อยู่บริเวณเกาะกลางถนนพระราม2 ไปจนถึงแยกต่างระดับบางขุนเทียน และจะมีการก่อสร้างก่อสร้างสะพานขึง (Cable-Stayed Bridge) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่องจราจร คู่กับสะพานเดิมด้วย โดยนอกจาก ช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัด บนถนนพระรามที่ 2 ในชั่วโมงเร่งด่วนและในวันหยุดช่วงเทศกาลต่าง ๆ ในการสัญจรในพื้นที่ชานเมืองและ เป็นเส้นทางสัญจรลงสู่ภาคใต้ แล้ว การมีสะพานขึงมาช่วยรองรับปริมาณจราจร จะทำให้กทพ.สามารถดำเนินการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ สะพานพระราม9 (สะพานปัจจุบัน) ได้อีกด้วย

ภาพจากเพจโครงการฯ สัญญา2

ภาพจากเพจโครงการฯสัญญา4

ภาพจากเพจโครงการฯสัญญา4




กำลังโหลดความคิดเห็น