xs
xsm
sm
md
lg

ทล.ปักหมุดขยายโทลล์เวย์ "รังสิต-บางปะอิน" 2.7 หมื่นล้าน ชงบอร์ด PPP เคาะประมูลกลางปี 65 แก้คอขวดเชื่อม M6

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวงเดินหน้าต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ "รังสิต-บางปะอิน" 22 กม. เสนอคมนาคม ม.ค. 65 ก่อนชง สคร.และบอร์ด PPP พิจารณารูปแบบ Gross Cost ลงทุน 2.7 หมื่นล้าน คาดประมูลกลางปี 65 เร่งตอกเข็มเสร็จปี 68 แก้คอขวดเชื่อม M6 สู่ภาคอีสาน  

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ว่า หลังจากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 ได้เห็นชอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนต่อไป ทล.เตรียมเสนอนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาเห็นชอบผลการศึกษา มูลค่าโครงการ และรูปแบบการลงทุนแบบไหน ภายในเดือน ม.ค. 2565 ซึ่งเบื้องต้นได้เสนอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) แบบ Gross Cost โดย ทล.ลงทุนก่อสร้างงานโยธา และจ้างเอกชนบริหารจัดการ อายุสัมปทาน 30 ปี  

หลังจากกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบ ทล.จะเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อขออนุมัติ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) คาดว่าใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน หรือภายในเดือน เม.ย. 2565 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติประมาณกลางปี 2565 ทล.จะเดินหน้าแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คัดเลือกหาผู้รับจ้าง ซึ่งคาดว่าจะได้ตัวเอกชนร่วมลงทุนประมาณปลายปี 2565 เริ่มก่อสร้างปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี กำหนดแล้วเสร็จปี 2568 

“โครงการนี้เป็น Gross Cost ที่รัฐจะต้องจ่ายคืนค่างานโยธาให้เอกชน โดยจะใช้เงินจากกองทุนค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์ ทยอยชำระคืนเมื่อก่อสร้างเสร็จหรือประมาณปี 2568 ซึ่งจะสอดคล้องกับการบริหารจัดการเงินกองทุนมอเตอร์เวย์ ที่ปัจจุบันมีภาระในการชำระค่าก่อสร้างโครงการทางยกระดับเอกชัย-บ้านแพ้ว ที่จะสร้างเสร็จประมาณปี 2567 พอดี ดังนั้นมีแหล่งเงินใช้คืนเอกชนที่ลงทุนก่อสร้างไปก่อนแน่นอน จะไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน” นายสราวุธกล่าว 

สำหรับการจัดหาเอกชนลงทุนนั้นจะเป็นการเปิดประกวดราคาใหม่ ซึ่งบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ผู้รับสัมปทานทางยกระดับช่วงดินแดง-รังสิต ไม่ได้มีการกำหนดในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานจะได้รับสิทธิพิจารณาก่อนรายอื่นแต่อย่างใด ส่วนการต่อเชื่อมระบบไม่น่าจะมีปัญหา เพราะระบบทางด่วนต่างจากระบบรถไฟฟ้าที่ต้องออกแบบให้เชื่อมต่อกับระบบเดิมได้ โดยจะก่อสร้างต่อจากปลายเส้นทางเดิม บริเวณโรงกษาปณ์ยกระดับไปตามเกาะกลางถนนพหลโยธิน เชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา(M6) ขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 27,742.80 ล้านบาท แยกเป็นงานโยธา 26,500 ล้านบาท งานระบบประมาณ 1,200 ล้านบาท    

สำหรับการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564  มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางหลวงพิเศษส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน โดยจุดเริ่มต้นโครงการเป็นการก่อสร้างทางยกระดับต่อเนื่องจาก Dead End Structure เดิมของทางยกระดับอุตราภิมุข บริเวณ กม.33+924 ของ ถ.พหลโยธิน และจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.51+924 ของ ถ.พหลโยธิน ระยะทาง 18 กม. และมีทางยกระดับ (Ramp) เชื่อมไปยังทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และทางหลวงหมายเลข 32 ระยะทาง 4 กม. รวมระยะทางโครงการฯ ส่วนต่อขยาย 22กม.  

กำหนดให้มีทางขึ้น-ลง รวม 7 แห่ง ได้แก่ 1. สำนักกษาปณ์ กระทรวงการคลัง 2. คลองหลวง 3. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4. นิคมอุตสาหกรรมนวนคร 5. มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ 6. ประตูน้ำพระอินทร์ และ 7. แยกต่างระดับบางปะอิน มีพื้นที่อ่อนไหวด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำนวน 74 แห่ง   




กำลังโหลดความคิดเห็น