xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟสีแดงสรุป PPP รัฐลงโยธา-ซื้อรถ เร่งชง ครม.เห็นชอบสร้างส่วนต่อขยาย 4 เส้นทางในปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รถไฟสีแดงส่วนต่อขยาย PPP เอกชนลงทุน 100% ไม่รอด ผลศึกษาชี้รัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธา งานระบบ และซื้อขบวนรถ ส่วนเอกชนรับเดินรถ ซ่อมบำรุง 50 ปี ดัน EIRR จูงใจ รฟท.เตรียมสรุปเสนอ ครม.ดันประมูลปี 65 ตอกเข็มปี 66 ทยอยเปิดปี 69-71

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย จำนวน 4 เส้นทาง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการแล้ว ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) วงเงิน 67,575.37 ล้านบาท ได้เตรียมดำเนินการก่อสร้างควบคู่กับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่มีแผนเข้าพื้นที่ในเดือน ต.ค. 2566 เพื่อออกแบบและก่อสร้างมีความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะช่วงสถานีจิตรลดาที่จะก่อสร้างเป็นคลองแห้ง

สำหรับรถไฟสายสีแดงที่มีการเปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน และสายสีแดงส่วนต่อขยายอีก 4 เส้นทางนั้น รฟท.ได้มีการศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ขณะนี้รายงานการศึกษาเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างสรุปข้อมูลเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เห็นชอบเพื่อเสนอต่อไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณา ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมต้องการให้ รฟท.เร่งรัดการก่อสร้างช่วง Missing Link โดยเร็ว คาดว่าจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ ครม.ภายใน 5 เดือน คาดว่าอนุมัติโครงการและเปิดประมูลในปี 2565 เริ่มก่อสร้างในปี 2566

ทั้งนี้ แนวทางในการดำเนินการรูปแบบ PPP - Net Cost เบื้องต้นมี 3 แนวทาง คือ 1. ให้เอกชนลงทุน 100% แต่ผลตอบแทน EIRR ต่ำมาก 2. รัฐลงทุนโยธา เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้า (M&E) และการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า (Rollingstock) และเอกชนรับผิดชอบการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) และจัดเก็บรายได้ ซึ่งค่า EIRR ยังต่ำกว่า 12% แนวทางที่ 3 รัฐลงทุนโยธาและระบบพร้อมกับจัดซื้อรถไฟฟ้า โดยให้เอกชนรับผิดชอบเดินรถ ซ่อมบำรุงทั้งตัวรถและโครงสร้างพื้นฐานด้วย ซึ่งเอกชนจัดเก็บรายได้ แบ่งค่าสัมปทานและจ่ายค่าตัวรถให้ รฟท. พบว่ามีความเป็นไปได้ในการลงทุน มีค่า EIRR เหมาะสมที่สุด ภายใต้ระยะเวลา 50 ปี โดยหากได้รับความเห็นชอบ รฟท.จะเปิดประมูลก่อสร้างงานโยธาได้ทันที เนื่องจาก ครม.เห็นชอบไว้แล้ว

จากมติ ครม.เดิมที่มีการอนุมัติโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง วงเงินรวม 67,575.37 ล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. มี 4 สถานี เงินลงทุน 6,570.40 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. มี 6 สถานี เงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. มี 3 สถานี 6,645.03 ล้านบาท, ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. มี 9 สถานี เงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาท นั้นจะสอดคล้องกับแนวทางที่ 3 ที่รัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง โดยในการเสนอ ครม.ครั้งนี้จะต้องชี้แจงรูปแบบ PPP แนวทางที่ 3 ว่า รฟท.จะโอนสิทธิ์และภาระหนี้ในการซื้อขบวนรถใหม่และการบำรุงรักษาให้เอกชนรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รายงานข่าวแจ้งว่า จากผลการศึกษาPPP ล่าสุด พบว่ามูลค่าการลงทุนส่วนต่อขยาย 4 เส้นทางปรับเพิ่มเป็น 79,322.57 ล้านบาท โดยช่วงรังสิต-มธ.รังสิตลงทุนเพิ่มเป็น 6,646.73 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ลงทุนเพิ่มเป็น 10,601.65 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ลงทุนเพิ่มเป็น 6,646.73 ล้านบาท, Missing Link ลงทุนเพิ่มเป็น 49,692.01 ล้านบาท ขณะที่เอกชนรับผิดชอบการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M)

ขณะที่ผลศึกษาคาดการณ์ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะเปิดให้บริการปี พ.ศ. 2569 รวมกับสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะมีจำนวน 252,900 คน-เที่ยว/วัน และช่วง Missing Link จะเปิดให้บริการปี พ.ศ. 2571 จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดครบทั้ง 6 เส้นทาง คาดว่าจะมีผู้โดยสารที่ 423,400 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มเป็น 572.200 คน-เที่ยว/วัน ในปี พ.ศ. 2580 และเพิ่มเป็น 730,000 คน-เที่ยว/วัน และในปี พ.ศ. 2620 หรือปีที่ 50 สัมปทาน ผู้โดยสารรวมจะเพิ่มเป็น 1,322,240 คน-เที่ยว/วัน




กำลังโหลดความคิดเห็น