จับตา 20 ธ.ค. คมนาคม-รฟท.ถกแผนปิด "หัวลำโพง" รฟท.จ่อชงวิ่งรถเชิงสังคม 52 ขบวนต่อลดผลกระทบ ด้านสหภาพฯ ชี้ระบบสถานีกลางบางซื่อไม่พร้อม แถมยังมี 14 ขบวนรถเชิงสังคมหยุดแค่ดอนเมือง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็น หัวข้อ “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ขณะนี้ รฟท.กำลังรวบรวมข้อมูล สรุปความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวงคมนาคมพร้อมรับฟังทุกฝ่ายและนำมาประมวลผล ว่าหากดำเนินการแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรต่อประชาชนอย่างไรบ้าง
"การเปิดเวทีสาธารณะเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้รู้ว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างไร ซึ่งยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมไม่มีแนวคิดทุบสถานีหัวลำโพง และเรื่องการพัฒนาสถานีหัวลำโพงไม่ใช่แนวคิดผม เป็นเรื่องที่เกิดมาก่อนแล้ว มีการศึกษา ตั้งแต่มีการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ผมเพียงแค่นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาการบริหารงานของ รฟท.ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ประสบภาวะขาดทุนเท่านั้น เพราะหลายประเทศทำสำเร็จแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งหากข้อมูลยังไม่ตกผลึก ก็ยังจะไม่ดำเนินการ"
ส่วนเรื่องการเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ขณะนี้ยืนยันว่า จะมีการเดินรถเข้าไปสถานีหัวลำโพง จำนวน 22 ขบวนตามแผนของ รฟท. ซึ่งได้ให้โจทย์ รฟท.ไปพิจารณาและวิเคราะห์ว่าจะมีแนวทางอย่างไรที่ทำให้การเดินรถทั้ง 22 ขบวนลดผลกระทบต่อการจราจรทางบกได้อีกหรือไม่อย่างไร หากมีก็ให้เสนอมา แต่หากไม่มีและวิ่ง 22 ขบวนถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้วก็ดำเนินการตามแผนนี้
ส่วนกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ขอให้ รฟท. พิจารณาทบทวนชะลอแผนงานการเปิดให้บริการรถไฟทางไกล (LD) ไปที่สถานีกลางบางซื่อ และคงการเดินรถชานเมืองทั้งหมดเข้าสถานีหัวลำโพงต่อไปก่อน เนื่องจากยังไม่มีความพร้อม เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบนั้น
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ทุกเรื่องทุกแนวคิดต้องมีเหตุผลและหลักการสนับสนุน จะใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาสนับสนุน หรือตัดสินใจไม่ได้ ผมไม่เคยทำงานแบบนั้น คงต้องนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งการปรับแผนเดินรถต่างๆ ขณะนี้ รฟท.กำลังเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ
อย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายวันที่ 20 ธ.ค. 64 จะมีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการ และการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ โดยจะนำเรื่องการเปิดให้บริการรถไฟทางไกลที่สถานีกลางบางซื่อมาพิจารณาด้วย
@รฟท.จ่อเสนอวิ่งรถเชิงสังคม 52 ขบวนเข้าหัวลำโพงไปถึงปีใหม่ ลดผลกระทบ
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการที่ รฟท.ได้เปิดเวทีรับฟังข้อมูล ข้อคิดเห็นของประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงมีข้อเรียกร้องจากสหภาพฯ รฟท.ให้ชะลอกรณีการย้ายรถไฟทางไกลและรถไฟชานเมืองจากสถานีหัวลำโพงไปให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ ออกไปจากที่กำหนดเริ่มในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ ดังนั้น รฟท.จะสรุปรายละเอียดข้อคิดเห็นเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อขอเดินรถบริการเชิงสังคมที่มีทั้งหมด ประมาณ 52 ขบวน/วัน เข้าสถานีหัวลำโพงต่อไปก่อนเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยรถไฟจำนวนมาก
หลังจากนั้นควรเปิดรับฟังความเห็นประชาชนอีกครั้งเพื่อพิจารณาปรับรายละเอียดและแนวทางใดที่เกิดประโยชน์สูงที่สุด
@ไม่ให้รถเชิงสังคมเข้าสถานีกลางบางซื่อ 14 ขบวน ต้องไปขึ้นที่ "ดอนเมือง"
รายงานข่าวแจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป ตามแผนเบื้องต้นรถไฟทางไกลสายเหนือ สายอีสาน จะหยุดบริการที่สถานีกลางบางซื่อ ไม่เข้าสถานีหัวลำโพงแล้ว จำนวน 42 ขบวน/วัน (ไป 21 ขบวน กลับ 21 ขบวน) เช่น กรุงเทพฯ -เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-เด่นชัย, กรุงเทพฯ-ศิลาอาสน์, กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี เป็นต้น
ส่วนสายใต้ จะหยุดที่สถานีบางซื่อ (สถานีเก่า) ไม่เข้าสถานีกลางบางซื่อจำนวน 26 ขบวน/วัน (ไป 13 ขบวน กลับ 13 ขบวน) ได้แก่ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่, กรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี, กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช, กรุงเทพฯ-ตรัง, กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก
สำหรับขบวนรถธรรมดาอีก 14 ขบวน (ไป 7 ขบวน กลับ 7 ขบวน) จะหยุดบริการที่สถานีดอนเมือง ไม่วิ่งเข้าสถานีกลางบางซื่อ ได้แก่ กรุงเทพฯ-นครสวรรค์, กรุงเทพฯ-บ้านภาชี, กรุงเทพฯ-ลพบุรี, กรุงเทพฯ-แก่งคอย, กรุงเทพฯ-พิษณุโลก, กรุงเทพฯ-ตะพานหิน, กรุงเทพฯ-สุรินทร์
โดยสถานีดอนเมืองจะเป็นสถานีต้นทาง/ปลายทาง ดังนั้น ผู้โดยสารที่ต้องการจะเข้าบางซื่อจะต้องลงที่สถานีดอนเมืองและเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง โดยรฟท.ระบุว่าสามารถใช้ตั๋วโดยสารเดิมในการใช้บริการสายสีแดงได้
สาเหตุที่รถไฟธรรมดา 14 ขบวนดังกล่าว ไม่สามารถเข้าสถานีกลางบางซื่อได้ เนื่องจากเป็นรถไฟดีเซล และเป็นบริการรถเชิงสังคม ซึ่งผู้อำนวยการฝ่ายการโดยสาร รฟท.ระบุว่ารถดีเซลไม่ให้เข้าสถานีบางซื่อ จะให้เข้าเฉพาะขบวนรถเชิงพาณิชย์ เพื่อลดจำนวนรถและผู้โดยสารเนื่องจากการ Operate สถานีกลางบางซื่อ ยังไม่พร้อม
ขณะที่การทำขบวนรถธรรมดาดังกล่าว หากให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อจะต้องลากขบวนออกจากเดปโป้บางซื่อขึ้นไปบนทางยกระดับ จนถึงวัดเสมียรนารี จากนั้นต้องถอยขบวนรถกลับมาที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเสียเวลา อีกทั้งหัวรถจักรมีไม่เพียงพอที่จะลากไปตั้งขบวน จึงตัดปัญหาหยุดสถานีสุดท้ายที่ดอนเมือง เพื่อให้รถลากออกจากเดปโป้ไปทำขบวนที่สถานีดอนเมือง ไม่ต้องย้อนกลับมาที่สถานีกลางบางซื่อ