xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯ รฟท.ยื่น “ประธานบอร์ด” ชะลอย้ายรถไฟทางไกล ชี้ ปชช.เดือดร้อน-ระบบยังไม่พร้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหภาพฯ รถไฟยื่น “ประธานบอร์ด” ทบทวนและชะลอการหยุดเดินรถหัวลำโพง และย้ายรถไฟทางไกลไปบางซื่อ ชี้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และต้องรับฟังความคิดเห็นก่อนตามรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (16 ธ.ค. 2564) นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายจิรุฒม์ วิศาลจิตร ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะกำกับดูแลการรถไฟฯ เพื่อให้การรถไฟฯ ทบทวนชะลอแผนงานการเปิดให้บริการรถไฟทางไกล (LD) จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปที่สถานีกลางบางซื่อในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ออกไปก่อนจนกว่าจะมีความพร้อม เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมากได้รับผลกระทบความเดือดร้อนในการใช้บริการที่ไม่สะดวก และเป็นการปกป้องภาพลักษณ์ในการให้บริการของการรถไฟฯ ต่อไป

นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพฯ รฟท.กล่าวว่า การหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ อีกทั้งในส่วนของการปฏิบัติการของการรถไฟฯ เองก็ยังไม่มีความพร้อม จึงขอให้ยังเดินรถไฟต่อไปตามปกติ โดยเฉพาะรถไฟชานเมืองเชิงสังคมที่มีประมาณ 50 ขบวน มีความจำเป็นต้องเข้าหัวลำโพงเพื่อลดผลกระทบของประชาชน

โดยในวันพรุ่งนี้ (17 ธ.ค.) สหภาพฯ รฟท.จะไปยื่นหนังสือถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้ทบทวนนโยบายการหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง และขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะรถไฟถือเป็นบริการของรัฐ การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนต้องมีการรับฟังความเห็นฯ ก่อนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 58

ทั้งนี้ ตามที่การรถไฟฯ ได้อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาเดินรถ และปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทาง ขบวนรถโดยสารในเส้นทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ เพื่อให้บริการในการเปิดให้ขบวนรถไฟโดยสารทางไกล (LD) ขึ้นให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ ในโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไปนั้น

และกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟฯ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 58 จากนโยบายการให้บริการในการเปิดให้ขบวนรถไฟโดยสารทางไกล (ทั้งขบวนรถเชิงพาณิชย์ และขบวนรถเชิงสังคม) ย้ายจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) มาให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ และกรณีที่กำหนดให้ขบวนรถไฟทางไกล (เชิงสังคม) รถไฟชานเมืองจำนวน 14 ขบวน มีต้นทาง-ปลายทางที่สถานีรถไฟดอนเมือง

การดำเนินการต่างๆ จะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนทั้งหมดเกิดความสับสนต่อการใช้บริการเดินทาง ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในการให้บริการแก่ประชาชน และผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน ในการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้าง การทำงาน ตามที่การรถไฟฯ ได้ตกลงกับสหภาพฯ ไว้มีสภาพบังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งหากจะเปลี่ยนแปลงต้องตกลงกับสหภาพฯ ก่อน แต่การกระทำที่กล่าวมายังไม่เกิดขึ้น ซึ่งหากมีการดำเนินการในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 จะเกิดปัญหาต่างๆ อย่างมากมาย และเชื่อว่าการรถไฟฯ จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่ดี ซึ่งมีข้อมูลข้อเท็จจริงหลายประการที่พบว่าการรถไฟฯ ยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินการ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การดำเนินการเปลี่ยนแปลงสถานีต้นทาง-ปลายทาง ในการให้บริการรถไฟจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปที่สถานีกลางบางซื่อ จะมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 58 ต้องมีการดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนหรือชุมชน และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ

ที่ผ่านมาการรถไฟฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจเข้าข่ายการดำเนินการขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยเฉพาะการที่กำหนดให้ขบวนรถไฟทางไกลเชิงสังคม รถไฟชานเมืองจำนวน 14 ขบวน มีต้นทาง-ปลายทางที่สถานีรถไฟดอนเมือง ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เหมือนเป็นการบีบบังคับให้ประชาชนที่เคยเดินทางต้องไปขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงที่มีราคาบริการแพงกว่า

2. ในการเปลี่ยนแปลงให้ขบวนรถไฟโดยสารทางไกล (ทั้งขบวนรถเชิงพาณิชย์ และขบวนรถเชิงสังคม) ย้ายต้นทางมาที่สถานีกลางบางซื่อ และเดินรถในเส้นทางของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) นั้น ขบวนรถในเส้นทางสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ ประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมากยังไม่ทราบว่าขบวนรถไม่สามารถหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารในสถานีรายทางของสายสีแดงได้ เนื่องจากระบบไม่ได้รองรับให้รถไฟจอดหยุดรับ-ส่งที่สถานีดังกล่าว ซึ่งแตกต่างกับเส้นทางเดิมที่สามารถหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารได้ที่สถานีบางเขน และสถานีหลักสี่ ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการเป็นจำนวนมากในการเดินทางกลับภูมิลำเนา หากการรถไฟฯ ดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวแล้วจะมีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการไม่ทราบข้อมูลและทำให้ไม่สามารถใช้บริการรถไฟได้

3. ในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงให้ขบวนรถไฟโดยสารทางไกล (ทั้งขบวนรถเชิงพาณิชย์ และขบวนรถเชิงสังคม) ย้ายต้นทางมาที่สถานีกลางบางซื่อ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้างของผู้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ในการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานของผู้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นสภาพการจ้าง เบื้องต้นทราบว่าสถานที่ทำงาน และพื้นที่ในการเตรียมความพร้อมในการตั้งริ้วขบวนรถ พื้นที่การเตรียมการดูแลซ่อมบำรุงขบวนรถยังไม่มีความพร้อมสมบูรณ์ และที่สำคัญยังไม่ได้มีการเจรจาตกลงกับสหภาพแรงงานฯ ซึ่งเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง ขัดกับพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 29

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยมีวัตถุประสงค์เป็นไปตามมาตรา 40 (3) (4) “เพื่อคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างของลูกจ้าง และปกป้องรักษาผลประโยชน์ของการรถไฟฯ” เห็นว่าจากเหตุผลดังกล่าวทั้งหมดข้างต้น ในการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาเดินรถ และปรับเปลี่ยนย้ายสถานีต้นทาง-ปลายทาง ขบวนรถโดยสารทางไกลในเส้นทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ เปลี่ยนการให้บริการรถไฟจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปที่สถานีกลางบางซื่อนั้น ยังไม่มีความพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบความเดือดร้อนอย่างมากต่อประชาชนผู้โดยสารเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อความเสียหายและต่อภาพลักษณ์ในการให้บริการของการรถไฟฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น