xs
xsm
sm
md
lg

สนข.สรุปแผนแม่บทเรือโดยสารผุด 14 เส้นทาง ลงทุน 5.4 พันล้านสร้างท่าเรือใหม่ใช้เรือไฟฟ้าบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนข.สรุปแผนแม่บทเรือโดยสาร (W-MAP) 14 เส้นทาง แบ่ง 3 ระยะ ลงทุนเบื้องต้น 5.4 พันล้านบาท เตรียมชง คจร. ม.ค. 65 ลุยเฟสแรก 5 เส้นทาง ตั้งเป้าขยายเส้นทางจาก 5 เส้นทางในปัจจุบัน เป็น 14 เส้นทางเชื่อมต่อ "ล้อ-ราง-เรือ" 45 จุด รองรับ 354,000 คน/วัน

วันที่ 20 ธ.ค. 2564 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดสัมมนาโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น กรุงเทพมหานคร (W-MAP) ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดบริการขนส่งทางน้ำในคลองอื่นๆ ที่ขนานกับถนนสายหลัก เพื่อลดปริมาณการจราจรบนถนน ใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อยกระดับการเดินทางทางน้ำ ให้ทางเลือกในการสัญจรและท่องเที่ยว

นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผยว่า การสัมมนาครั้งนี้ ที่ปรึกษาได้นำเสนอผลการศึกษาของโครงการแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น กรุงเทพมหานคร ตามที่ รมว.คมนาคมสั่งการ ซึ่งได้รับฟังข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรคจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชน และลงพื้นที่กำหนดแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 3 ระยะ 14 เส้นทาง มูลค่าการลงทุนในเบื้องต้น 5,472.60 ล้านบาท

ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2565-2570) จำนวน 5 เส้นทาง มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 4,123.80 ล้านบาท ได้แก่ S1: เส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย ช่วงวัดศรีบุญเรืองถึงถนนสุวินทวงศ์ ระยะทาง 12 กิโลเมตร และเส้นทางเดินเรือในคลองบางลำพู ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถึงป้อมพระสุเมรุ ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร S2 : เส้นทางเดินเรือในคลองขุดมหาสวัสดิ์ ช่วงประตูน้ำมหาสวัสดิ์ถึงวัดชัยพฤกษมาลา ระยะทาง 28 กิโลเมตร S3 : เส้นทางเดินเรือในคลองบางกอกน้อย ช่วงวัดชะลอถึงศิริราช ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร S4 : เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าว ช่วงสายไหมถึงพระโขนง ระยะทาง 25.7 กิโลเมตร S5 : เส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากร ช่วงวัดรังสิตถึงบางซื่อ ระยะทาง 20.5 กิโลเมตร

ระยะกลาง (พ.ศ. 2571-2575) จำนวน 5 เส้นทาง มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 946.50 ล้านบาท ได้แก่ M1 : เส้นทางเดินเรือในคลองประเวศบุรีรมย์ส่วนต่อขยาย ช่วงตลาดเอี่ยมสมบัติถึงวัดสังฆราชา ระยะทาง 21.4 กิโลเมตร M2 : เส้นทางเดินเรือในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ช่วงตลาดรังสิตถึงโลตัสคลอง 7 ระยะทาง 18 กิโลเมตร M3 : เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าวส่วนต่อขยาย (คลองสอง) ช่วงถนนสายไหม-คูคต ถึงประตูน้ำคลองสอง ระยะทาง 8.5 กิโลเมตร M4 : เส้นทางเดินเรือในคลองภาษีเจริญส่วนต่อขยาย ช่วงถนนเพชรเกษม 69 ถึงประตูน้ำกระทุ่มแบน ระยะทาง 16.5 กิโลเมตร M5 : เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยาย ช่วงปากเกร็ดถึงที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 15 กิโลเมตร

ระยะยาว (พ.ศ. 2576-2585) จำนวน 4 เส้นทาง มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 402.30 ล้านบาท ได้แก่ L1 : เส้นทางเดินเรือในคลองอ้อมนนท์ ช่วงวัดโตนดถึงแยกคลองบางกรวย ระยะทาง 18.3 กิโลเมตร L2 : เส้นทางเดินเรือในคลองบางกอกใหญ่ ช่วงแยกคลองบางขุนศรีถึงวัดกัลยาณมิตร ระยะทาง 6.2 กิโลเมตร L3 : เส้นทางเดินเรือในคลองมอญ ช่วงถนนอรุณอัมรินทร์ถึงแยกคลองบางขุนศรี ระยะทาง 3 กิโลเมตร L4 : เส้นทางเดินเรือในคลองชักพระ ช่วงถนนบางขุนนนท์ถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ 25 ระยะทาง 5.2 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ในการพัฒนาระบบการเดินทางทางน้ำนั้น จะต้องปรับปรุงสภาพทางกายภาพของคลอง เช่น การขุดลอกคลอง การจัดทำเขื่อนป้องกันตลิ่ง การปรับปรุงท่าเรือเดิม และก่อสร้างท่าเรือใหม่เพิ่มเติม การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือ และการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่นเพื่อเพิ่มความสะดวกและเป็นทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการบูรณาการแผนร่วมกัน ได้แก่ กรมเจ้าท่า กทม. กรมชลประทาน ส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

ส่วนการเดินเรือ ตามแนวยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย (GREEN TRANSPORT) และเน้นการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือก เช่น การใช้เรือไฟฟ้า เป็นต้น และเพื่อส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชนให้ร่วมพัฒนาการขนส่งทางน้ำ จะมีการพิจารณาออกกฎระเบียบเพื่อรองรับการนำเรือโดยสารที่ใช้ให้บริการในแม่น้ำลำคลองมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในการขอสินเชื่อจากธนาคาร รวมถึงศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการและสอดคล้องกับภาระต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ ในการศึกษาพบว่า แผนระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง รวม 95 กม. ต้องพัฒนาปรับปรุงท่าเรือเดิมและสร้างท่าเรือใหม่ 100 ท่าเรือ ขุดลอกระยะทาง 118 กม. ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งคลองเปรมประชากร ระยะทาง 13 กม. จัดซื้อเรือไฟฟ้าเพื่อเดินเรือจำนวน 39 ลำ, แผนระยะกลาง 5 เส้นทาง รวม 80 กม.ต้องพัฒนาปรับปรุงท่าเรือเดิมและสร้างท่าเรือใหม่ 40 ท่าเรือ ขุดลอกระยะทาง 63.8 กม. จัดซื้อเรือไฟฟ้าเพื่อเดินเรือจำนวน 38 ลำ, แผนระยะยาว 4 เส้นทาง รวม 33 กม. ต้องพัฒนาปรับปรุงท่าเรือเดิมและสร้างท่าเรือใหม่ 33 ท่าเรือ

ซึ่งแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำฯ จะเพิ่มความยาวโครงข่ายการเดินทางทางน้ำ จาก 77 กม.ในปัจจุบัน เป็น 285 กิโลเมตรในอนาคต จำนวนเส้นทางเดินเรือ เพิ่มขึ้นจาก 5 เส้นทางในปัจจุบัน เป็น 14 เส้นทางในอนาคต จำนวนท่าเรือ เพิ่มขึ้นจาก 118 ท่าในปัจจุบัน เป็น 277 ท่าในอนาคต จำนวนจุดเชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ เพิ่มขึ้นเป็น 45 จุด ในอนาคต และปริมาณผู้โดยสารทางน้ำ เพิ่มขึ้นจาก 193,000 คนต่อวัน เป็น 354,000 คนต่อวันในอนาคต

โดย สนข.จะสรุปการศึกษาแผนแม่บท W-MAP ในเดือน ม.ค. 2565 จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป







นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)


กำลังโหลดความคิดเห็น