xs
xsm
sm
md
lg

"ศักดิ์สยาม" เผยปี 65 การขนส่งทางเรือเกิด เชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าแผนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และแนวทางการบริหารการขนส่งสินค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตามนโยบายการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้  
 
 วันนี้ (9 ธ.ค.) นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย รักษาการผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง  นายขวัญเลิศ พานิชมาท  สส.เขต ตังหวัดชลบุรี  พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่า ให้การต้อนรับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ณ กองบริการ ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

โดยนายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ ให้มีความเชื่อมโยง ความสะดวกปลอดภัย รวมทั้งสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมในเชิงรุกมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างรูปแบบการขนส่งกำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

 เพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (shift mode) จากถนนสู่เรือมากขึ้น จึงได้มอบให้กรมเจ้าท่า และการท่าเรือแห่งประเทศไทยเร่งพัฒนาโครงการสำคัญเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและดำเนินการตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นประตูการค้าเชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก และตะวันตก ให้เชื่อมต่อและขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้

 กระทรวงคมนาคมจึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้น เห็นว่า ควรจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติใน 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) การเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine Line) เชื่อมโยงการเดินทางอ่าวไทย ซึ่งเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และกระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและท่าเทียบเรือรองรับการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งการพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับสายการเดินเรือ ซึ่งปัจจุบันกรมเจ้าท่า ร่วมดำเนินการกับบริษัท ซีฮอร์สเฟอร์รี่ จำกัด ได้นำเรือ Ro-Ro Ferty "The Blue Dolyphin" เดินเรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าวเส้นทางระหว่างจังหวัดชลบุรี กับจังหวัดสงขลา เปิดให้บริการเรือเส้นทางสัตหีบ-สงขลา ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้การพัฒนาสายการเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine line) เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางน้ำของประเทศ โดยเริ่มทดลองให้บริการเดินเรือเมื่อเดือน พ.ย.2564 ที่ผ่านมา และมีแผนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2565
 
โดยระยะแรกจะเปิดให้บริการเส้นทางท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (จุกเสม็ด)-ท่าเรือสวัสดิ์ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะลดปัญหาการจราจร ลดปริมาณรถในการขนส่งสินค้าประมาณ 90,000 คัน/ปี ซึ่งจะลดลงไปเมื่อหันมาใช้การขนส่งทางน้ำลดอุบัติเหตุ และ 2.การเดินเรือในระดับ International แบ่งเป็นสายการเดินเรือฝั่งตะวันออก (East) ตั้งแต่กัมพูชา เวียดนาม เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และฝั่งตะวันตก (West) ได้แก่ แอฟริกา และยุโรป หรือ กลุ่ม BIMSTEC คาดแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565  

 สำหรับเรือ The Blue Dolyphin ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมเจ้าท่า มีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานสากล ผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นในการเดินทาง รวมทั้งมีตารางการเดินเรือที่แน่นอน สามารถเดินทางระหว่างภาคตะวันออกไปภาคใต้ได้อย่างสะดวก โดยเรือขนาด 7,003 ตันกรอส ยาว 136.6 เมตร กว้าง 21 เมตร กันน้ำลึก 5.7 เมตร สามารถรองรับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกได้ประมาณ 100 คัน รองรับผู้โดยสารได้ 536 คน ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 20 ชั่วโมง ให้บริการ 1 เที่ยวไปกลับต่อสัปดาห์  ในวันอังคาร และวันพุธ และจะขยายการให้บริการในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งการเปิดให้บริการเรือดังกล่าวจะทำให้ประชาชนและผู้ใช้บริการที่ต้องการเดินทางหรือขนส่งสินค้าระหว่างภาคตะวันออก-ภาคใต้ มีทางเลือกในการเดินทางการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยลดปัญหาการจราจรทางบก ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุบนถนน ลดต้นทุนการบำรุงรักษาถนน เสริมศักยภาพสายการเดินเรือภายในประเทศ

 รัฐมนตรีว่าการกรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงยังมีนโยบายการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำที่สำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบขนส่ง เป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยกรมเจ้าท่าได้มุ่งมั่นพัฒนา เสริมสร้างประสิทธิภาพในภูมิภาค การบริหารจัดการท่าเรือโดยการนำระบบ  Automation เพื่อมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทางและพัฒนาท่าเรือในภูมิภาค เชื่อมโยงการเดินทาง และการท่องเที่ยวให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทย ก่อให้เกิดรายได้และการพัฒนาด้านระบบคมนาคมที่ยังยืนต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น