การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบคมนาคมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตลอด 7 ปีที่ผ่านมารัฐบาลใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาลกว่า 2 ล้านล้านบาท ที่นอกจากทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้ฟันเฟืองยังหมุนต่อไปได้แล้ว ยังมีเป้าหมายมุ่งลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ อำนวยความสะดวก ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน ซึ่งในปี 2565 กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม มูลค่าประมาณ 3.79 แสนล้านบาท โดยจะเน้นการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) หรือใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ให้มากที่สุด เพราะงบประมาณมีจำกัด จึงต้องใช้จ่ายอย่างรัดกุม
“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เป้าหมายการลงทุนในปี 2565 นั้นจะเป็นการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อสร้างศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต เน้นการสร้างระบบโลจิสติกส์ให้แข็งแรง เพราะจะเป็นโอกาสที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการแข่งขันได้ และจะเป็นการลงทุนที่จะช่วยทำให้เกิดรายได้ย้อนกลับสู่ประเทศและประชาชนคนไทยด้วย
ทั้งนี้ ตามแผนงานโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมที่วางแผนว่าจะประมูลในปี 2565 เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) จำนวน 2 โครงการของกรมทางหลวง คือ 1. มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 27,742.80 ล้านบาท แยกเป็นงานโยธา 26,500 ล้านบาท งานระบบประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเตรียมเสนอผลศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ภายในต้นปี 2565 และคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2565
2. มอเตอร์เวย์ หรือ M9 สายวงแหวนรอบนอก กทม.ด้านตะวันตก ตอนบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 38 กม. วงเงินลงทุน 56,035.26 ล้านบาท ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนที่เหมาะสมและคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2565
“สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า โครงการส่วนต่อขยาย ดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน นั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เห็นชอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 ซึ่งเตรียมเสนอนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาเห็นชอบผลการศึกษามูลค่าโครงการ และรูปแบบการลงทุนแบบไหน ภายในเดือน ม.ค. 2565 ซึ่งเบื้องต้นได้เสนอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) แบบ Gross Cost โดย ทล.ลงทุนก่อสร้างงานโยธา และจ้างเอกชนบริหารจัดการ อายุสัมปทาน 30 ปี
หลังจากนั้นจะเสนอ สคร.และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) อนุมัติ คาดว่าใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน หรือภายในเดือน เม.ย. 2565 จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่าจะได้รับการอนุมัติประมาณกลางปี 2565 จากนั้น ทล.จะเดินหน้าแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คัดเลือกหาผู้รับจ้าง ซึ่งคาดว่าจะได้ตัวเอกชนร่วมลงทุนประมาณปลายปี 2565 เริ่มก่อสร้างปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี กำหนดแล้วเสร็จในปี 2568
“โครงการนี้เป็น Gross Cost ที่รัฐจะต้องจ่ายคืนค่างานโยธาให้เอกชน โดยจะใช้เงินจากกองทุนค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์ ทยอยชำระคืนเมื่อก่อสร้างเสร็จหรือประมาณปี 2568 ซึ่งจะสอดคล้องกับการบริหารจัดการเงินกองทุนมอเตอร์เวย์ ที่ปัจจุบันมีภาระในการชำระค่าก่อสร้างโครงการทางยกระดับเอกชัย-บ้านแพ้ว ซึ่งจะก่อสร้างเสร็จประมาณปี 2567 พอดี ดังนั้น โครงการนี้มีแหล่งเงินใช้คืนเอกชนที่ลงทุนก่อสร้างไปก่อนแน่นอน จะไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน” นายสราวุธ กล่าว
ส่วนมอเตอร์เวย์สาย 9 ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ตอนบางขุนเทียน-บางบัวทองนั้นผ่านความเห็นชอบจาก รมว.คมนาคมแล้วเมื่อเดือน ต.ค. 2564 และ ทล.ได้ส่งเรื่องไปยัง สคร.แล้ว คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) จะมีการประชุม และเห็นชอบผลการศึกษา รูปแบบการลงทุนเร็วๆ นี้
คาดว่าหลังได้รับอนุมัติโครงการจะตั้งคณะกรรมการมาตรการ 36 พ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2562 และใช้เวลาคัดเลือกผู้รับจ้างประมาณ 6 เดือน ขณะที่รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะสรุปใน ม.ค. 2565 และเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ซึ่งโครงการนี้ก่อสร้างบริเวณเกาะกลางแนวเส้นทางกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ในปัจจุบัน EIA ไม่ยุ่งยาก คาดว่าจะได้รับอนุมัติปลายปี 2565 ซึ่งจะพอดีกับการประมูลคัดเลือกผู้รับจ้าง
ขณะที่รูปแบบการร่วมลงทุนนั้น มีแนวโน้มจะใช้ PPP-Net Cost เพื่อลดภาระและความเสี่ยงของภาครัฐ ซึ่งคล้ายกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ที่ให้เอกชนลงทุนค่างานโยธา งานระบบ ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษา โดยรัฐสนับสนุนค่างานโยธาในภายหลัง ซึ่งหากเอกชนรายใดขอรับการอุดหนุนน้อยที่สุด หรือไม่รับอุดหนุนเลย จะได้รับคัดเลือก
โดยจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับตามแนวถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ขนาด 6 ช่องจราจร (ไป/กลับ) มีทางขึ้น-ลงจำนวน 9 จุด และเชื่อมต่อกับโครงข่ายมอเตอร์เวย์อื่นๆ 4 จุด ได้แก่ 1. เชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์สาย 9 ด้านทิศใต้ และมอเตอร์เวย์ (M82) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว และทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ที่ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน 2. เชื่อมต่อทางยกระดับบนถนนบรมราชชนนี 3. เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก 4. เชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ (M81) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ทางแยกต่างระดับบางใหญ่
@ทช.ลุยตอกเข็มสะพาน 2 แห่ง "เกาะลันตา" และ "ทะเลสาบสงขลา"
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) มี 2 โครงการ คือ 1. โครงการก่อสร้างสะพานเกาะลันตา วงเงินรวม 1,800 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการออกแบบและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ประมาณเดือน พ.ค. 2565 และเสนอ ครม.ขออนุมัติ มีแผนเริ่มก่อสร้างในปี 2566-2568 คาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรได้ในปี 2569
2. โครงการก่อสร้างสะพานทะเลสาบสงขลา วงเงินรวม 4,700 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอกระทรวงคมนาคมและ ครม.ขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้าง โดยโครงการออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว และ คชก.พิจารณาเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการส่งให้ สผ.และ กก.วล.เห็นชอบ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 2565
@มาแน่! ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง เจาะอุโมงค์แก้รถติด จ.ภูเก็ต
สำหรับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปักธงเดินเครื่องประมูลโครงการทางด่วนจังหวัดภูเก็ต ตอนกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงินรวม 14,469.84 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณ 5,792.24 ล้านบาท และ PPP ร่วมลงทุนเอกชน มูลค่า 8,677.60 ล้านบาท โดยคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบและได้เสนอขออนุมัติโครงการฯ ให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 เพื่อเสนอ ครม.พิจารณา คาดว่า ครม.จะอนุมัติโครงการได้ภายในเดือน ม.ค. 2565 และเข้าสู่ขั้นตอนประมูล คาดเริ่มก่อสร้างปี 2566 เปิดให้บริการปี 2569
@รฟท.ลุ้นประมูลก่อสร้างสายสีแดงต่อขยาย 4 เส้นทาง
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่าจะเปิดประมูลก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวม 67,575.37 ล้านบาท ได้ในปี 2565 ซึ่งปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ขณะที่แนวทางการดำเนินการ ในเบื้องต้นรัฐบาลรับภาระงานโยธา ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะได้ข้อสรุปเมื่อดำเนินการศึกษา PPP แล้วเสร็จ
ซึ่งมติ ครม.เดิมที่ได้มีการอนุมัติโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. มี 4 สถานี เงินลงทุน 6,570.40 ล้านบาท 2. รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-กฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี) ระยะทาง 14.8 กม. มี 6 สถานี เงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท
3. รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. มี 3 สถานี เงินลงทุน 6,645.03 ล้านบาท 4. รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. มี 9 สถานี เงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาท
นอกจากนี้ รฟท.ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 2 โครงงาน วงเงินรวม 67,275.10 ล้านบาท ที่คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 2565 ได้แก่ รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 29,748 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้อนุมัติโครงการแล้วเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564 อยู่ในขั้นตอนนำเสนอขออนุมัติคมนาคมและ ครม. และรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท สถานะปัจจุบันผ่านการพิจารณา EIA แล้ว เตรียมสรุปเสนอบอร์ด รฟท. พิจารณา
@ รฟม.เร่งปิดดีล “รถไฟฟ้าสีส้ม-สีม่วง” จบข้อพิพาทฟ้องร้อง
ด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถือว่ามีปมใหญ่ที่ต้องแก้ไข คือ ปัญหาถูกฟ้องร้องกรณีเปลี่ยนเกณฑ์ตัดสินการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม. วงเงิน 128,127 ล้านบาท ทำให้การประมูลยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2563 จนต้องมีการยกเลิกการประมูลไปเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 และปัจจุบันยังไม่เริ่มการประมูลรอบใหม่ โดย รฟม.อยู่ระหว่างรอแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จึงจะประชุมพิจารณาร่าง TOR ได้
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การที่รถไฟฟ้าสีส้มจะเดินหน้าประมูลต่อไปนั้น คงต้องรอให้ข้อพิพาทมีความชัดเจนแล้ว ซึ่งขณะนี้ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง อยู่ระหว่างไต่สวนมูลฟ้องคดีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 กรณีแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ซึ่งเดิม รฟม.คาดการณ์ไว้ว่าจะสรุป TOR และออกประกาศเชิญชวนเอกชนได้ในเดือน ต.ค. 2564 และสรุปผลการพิจารณาคัดเลือกผู้ร่วมทุนฯ และได้ตัวเอกชนประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. 2565 ซึ่งต้องปรับไทม์ไลน์กันใหม่เพราะการประมูลล่าช้าไปจากแผนแล้ว แต่ยังเชื่อว่าจะยังสามารถเร่งรัดได้ โดย รฟม.จะปรับแผนงานให้เอกชนเข้าดำเนินการติดตั้งระบบของสายสีส้มด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. ที่ขณะนี้กำลังก่อสร้างงานโยธาเพื่อเร่งเปิดเดินรถด้านตะวันออกได้ตามแผนช่วงกลางปี 2568 ส่วนด้านตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. หลังได้ตัวเอกชนจะเร่งรัดการก่อสร้างและติดตั้งระบบ ซึ่งตามแผนจะเปิดให้บริการหลังจากเปิดด้านตะวันออกไปแล้วประมาณ 3 ปี หรือเปิดในปี 2571
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 รฟม.ได้เปิดประมูลก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กม. 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กม. 7 สถานี) มีงบประมาณรวม 78,720 ล้านบาท จำนวน 6 สัญญา โดยมีเอกชน 4 บริษัทยื่นซองประมูล คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือน มี.ค. 2565 ก่อสร้างและมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2570
แม้ประเทศไทยจะประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การค้าการลงทุนในปี 2565 จะอยู่ในขาลงจากผลกระทบโควิด-19 แต่โครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมนั้นคาดว่าจะทยอยออกประมูล ช่วยกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ไม่มากก็น้อย และคงต้องลุ้นกันว่าจะเป็นปีเสือทอง...หรือ... เสือลำบาก!!!