ไม่มีอุทธรณ์ รถไฟทางคู่ 2 สายใหม่ "เด่นชัย-เชียงราย" และ "บ้านไผ่-นครพนม" รฟท.จ่อเซ็นรับเหมา 5 สัญญาวันนี้ ปิดจ็อบส่งท้ายปี “ศักดิ์สยาม” เผยผลตรวจสอบโปร่งใส สั่งเร่งงานตามแผน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ว่า หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาที่นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งขึ้น สรุปผลว่าการประกวดราคาทั้ง 2 โครงการเป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้อนุมัติสั่งจ้างก่อสร้างแล้ว ซึ่งตนได้เร่งรัดให้รฟท.ดำเนินการโดยเร็ว
ทั้งนี้ เนื่องจากกระบวนการประกวดราคาโครงการล่าช้ามาหลายเดือนแล้ว และส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณด้วย ซึ่งกระทรวงคมนาคมยืนยันการดำเนินงาน ยึดระเบียบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หากมีการสงสัยก็สามารถตรวจสอบให้ชัดเจนได้ ซึ่งโครงการรถไฟทางคู่เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าการดำเนิน โครงการขนาดใหญ่ทำยาก มีหลายประเด็นที่ส่งผลให้ล่าช้า
"รฟท.ได้รายงานการดำเนินงานมาที่กระทรวงคมนาคมให้รับทราบแล้ว ส่วนการลงนามเป็นอำนาจของ รฟท.ที่ต้องทำตามระเบียบและข้อกฎหมายให้ครบถ้วนซึ่งหากลงนามได้เร็วจะเตรียมข้อมูลรายงานนายกรัฐมนตรี ที่จะมีการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดนครนพมในช่วงเดือนม.ค. 65 ต่อไป"
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท.เปิดเผยว่า หลังจากบอร์ด รฟท.มีมติอนุมัติสั่งจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 72,920 ล้านบาท จำนวน 3 สัญญา และรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินรวม 55,458 ล้านบาท จำนวน 2 สัญญา เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564 รฟท.ได้มีการประกาศผลผู้ชนะตามขั้นตอนการประกวดราคาด้วยระบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ในวันที่ 17 ธ.ค. 2564 เป็นเวลา 7 วันทำการ (17 ธ.ค. 64 -27 ธ.ค. 64) ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 117 ไม่มีการอุทธรณ์ ซึ่งได้ดำเนินการครบทุกขั้นตอน โดย รฟท.และผู้รับจ้างมีความพร้อมในการลงนามสัญญาในวันนี้ (29 ธ.ค.) และถือเป็นของขวัญปีใหม่และเพื่อให้ผู้รับจ้างได้เตรียมพร้อมเพื่อเข้าเริ่มงานก่อสร้างได้เร็วที่สุด
รายงานข่าวจาก รฟท.แจ้งว่า หลังปิดรับคำอุทธรณ์วันที่ 27 ธ.ค. 2564 ไม่มีการอุทธรณ์ วันที่ 28 ธ.ค. 64 รฟท.จึงออกหนังสือถึงผู้ได้รับงานทั้ง 5 สัญญา แจ้งให้มาลงนามสัญญา โดยภาพรวม รฟท.มีความพร้อมในการลงนาม โดยอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาทั้งหมดแล้ว และมีการจัดทำรายละเอียด BOQ (Bill of Quantities) ซึ่งเป็นรายการแสดงปริมาณงานและราคาวัสดุก่อสร้าง เพื่อแนบกับสัญญา จัดทำเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ ได้มีการรายงานไปยัง รมว.คมนาคมรับทราบมติบอร์ด รฟท.และขั้นตอนในการดำเนินการแล้ว
สำหรับเอกชนนั้น จะต้องเตรียมเอกสารหลักประกันสัญญา ซึ่งต้องรอหนังสือที่รฟท.ส่งแจ้งให้เข้าลงนามสัญญา ไปประกอบการจัดทำหลักประกันสัญญากับสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะเอกชนประสานกับแบงก์เตรียมพร้อมคู่ขนานไปได้
ซึ่งหลังลงนามสัญญาคาดว่าจะทยอยเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ประมาณกลางปี 2565 โดยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สาย เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. เจ้าหน้าที่ รฟท.ได้ลงสำรวจรังวัด และติดตั้งป้ายประกาศพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ตาม พ.ร.บ.เวนคืนปี 2562 โดยการสำรวจมีพื้นที่เวนคืนจำนวน 7,292 แปลง ที่ดิน 9,661 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 1,200 หลังคาเรือน ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย มีค่าเวนคืน 10,660 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดินตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 ส่งมอบที่ดินแปลงแรกเพื่อการก่อสร้างโครงการในเดือน มิ.ย. 2565
ส่วนสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม) ระยะทาง 355 กม. มีพื้นที่เวนคืนทั้งหมด 17,499 ไร่ ที่ดิน 6,762 แปลง ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร นครพนม มีค่าเวนคืน 10,080.33 ล้านบาท