ครม.รับทราบรถไฟไทย-จีน เร่งงานโยธาระยะแรกกรุงเทพฯ-โคราชอีก 3 สัญญาด้าน "ศักดิ์สยาม" เสนอ "นายกฯ" ตั้งคณะทำงานร่วม 5 กระทรวง บูรณาการข้อมูลปริมาณสินค้าและผู้โดยสารเตรียมจัดเดินรถไฟ เชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ขณะที่เร่งสร้างเฟสแรกเสร็จปี 69
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ธ.ค. 2564 ได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้รายงานถึงสถานภาพการก่อสร้างโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. และความก้าวหน้า ในส่วนของระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. และระยะที่ 3 ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ระยะทาง 16 กม. เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน ในอนาคต
ทั้งนี้ ตนได้เสนอ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วม 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม โดยเสนอให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะทำงานฯ เพื่อช่วยบูรณาการข้อมูลปริมาณสินค้า และการเดินทาง ข้ามแดนเพื่อนำข้อมูลไปจัดทำแผนการเดินรถไฟเชื่อมระหว่าวไทย-สปป.ลาวต่อไป
ส่วนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ซึ่งมีงานโยธา 14 สัญญานั้น ขณะนี้ยังเหลืออีก 3 สัญญาที่ยังไม่ได้ดำเนินการ คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว มีเรื่องแบบก่อสร้างสถานีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า และสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้พิจารณาแผนการก่อสร้างแล้ว โดยการก่อสร้างระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จในปี 2569 ส่วนระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ตามแผนจะก่อสร้างเสร็จปี 2572
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 29 สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา มีสัญญาการก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 7 สัญญา เตรียมการก่อสร้าง 3 สัญญา และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา
ส่วนงานจ้างออกแบบรายละเอียด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามสัญญากับรัฐวิสาหกิจจีน คือ China Railway Design Corporation : CRDC และ China Railway International Corporation : CRIC เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 วงเงิน 1,706.7 ล้านบาท ขณะนี้ ฝ่ายจีนได้ออกแบบแล้วเสร็จ สำหรับงานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง รฟท.ได้ลงนามสัญญากับ CRDC และ CRIC เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 วงเงิน 3,500 ล้านบาท โดยผู้รับจ้างอยู่ระหว่างควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาปี 2564 และประกันผลงาน 2 ปี
ส่วนสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ซึ่ง รฟท.ได้ลงนามสัญญากับ CRDC และ CRIC ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 วงเงิน 50,644.5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 64 เดือน แบ่งงานเป็น 3 ช่วง คือ งานออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูงและออกแบบระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งขบวนรถไฟ งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและการซ่อมบำรุงและการถ่ายทอดเทคโนโลยี และงานติดตั้งระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกลระบบรถไฟความเร็วสูงที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ครม.เร่งรัดให้ รฟท.ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ซึ่ง ครม.มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ให้ รฟท.เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้ถือเป็นนโยบายที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ส่วนการเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์นั้น ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 และการประชุมสามฝ่าย ไทย-ลาว-จีน ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2562 ที่ประชุมเห็นชอบให้การสร้างสะพานแห่งใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งจะมีทั้งทางรถไฟมาตรฐาน 1.435 เมตร และขนาดทาง 1 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวประมาณ 30 เมตร ซึ่งไทย-ลาว-จีนได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 และปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอให้มีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย เพื่อหารือแนวทางการก่อสร้างและการเดินรถร่วมกันต่อไป
สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 29 นั้น มีสาระสำคัญ เช่น รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา, การหารือเกี่ยวกับการดำเนินการช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และการเห็นชอบในหลักการให้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 30