xs
xsm
sm
md
lg

ทูตจีนพบ “ศักดิ์สยาม” ถกคืบหน้ารถไฟไทย-จีน พร้อมเร่งรัดสะพานเชื่อม "หนองคาย-เวียงจันทน์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” พบทูตจีนหารืออัปเดตโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ตั้งเป้าเปิดปี 2571 พร้อมเร่งสรุปช่วงเชื่อมต่อหนองคาย-เวียงจันทน์ โปรโมตแผนโครงการ MR-Map และแลนด์บริดจ์ ชวนจีนร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายไทย

วันที่ 20 ธ.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ นายหาน จื้อเฉียง (H.E. Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และคณะฯ เข้าเยี่ยมคารวะพร้อมแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับหน้าที่เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศไทย พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาช้านานในหลายระดับ อีกทั้งมีความร่วมมือที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สำหรับความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พลเอก  ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนแนวคิด “สายแถบและเส้นทาง” ของจีนที่มุ่งจะเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งระหว่างภูมิภาค ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญและเร่งผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟจีน-ลาว ที่ได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยได้ร่วมหารือถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน โดยการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569 และมีแผนงานที่จะก่อสร้างระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 356 กิโลเมตร ขณะนี้ออกแบบแล้วเสร็จอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในปี 2565 เปิดใช้บริการได้ในปี 2571 รวมถึงระยะที่ 3 ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ระยะทาง 16 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน ในอนาคต


ที่ผ่านมาได้มีการหารือ 3 ฝ่ายระหว่าง ไทย-ลาว-จีน ระดับอธิบดีเพื่อหารือในประเด็นแนวทางการเชื่อมโยงโครงการรถไฟไทย-จีน กับโครงการรถไฟลาว-จีน เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาการขนส่งทางรางที่ยั่งยืน โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคอาเซียน

ได้แก่ 1. แนวเส้นทางของสะพานข้ามแม่น้ำโขง รูปแบบ และจำนวนเที่ยววิ่ง โดยตำแหน่งของสะพานแห่งใหม่จะอยู่ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร 2. ตำแหน่ง Port Station และ Transshipment Station 3. การลงทุนโครงการการบริหารจัดการ

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้ดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับระบบราง (MR - Map) และโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยหรือแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) เพื่อเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและระหว่างภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไปในโอกาสดังกล่าว ซึ่งได้ให้ข้อมูลเพื่อให้ฝ่ายจีนพิจารณาการเข้าร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตามโครงการ MR-Map และ Land Bridge ภายใต้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น