“ศักดิ์สยาม” เร่งออกแบบรถไฟไทย-จีน เฟส 2 “โคราช-หนองคาย” พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ คาดปี 65 เสนอ ครม.ลุยก่อสร้าง ลั่นเปิดบริการปี 70 ส่วนทางคู่ "ขอนแก่น-หนองคาย" คาดประมูลไตรมาส 2/65 เปิดรถไฟลาว-จีนช่วงแรกคน-สินค้ายังไม่มาก
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง "ลาว-จีน" วันที่ 2 ธันวาคม 2564 นั้น ในส่วนของการเชื่อมต่อกับประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้มอบหมายนโยบายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาไว้แล้ว ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงฯ ทั้งกรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาไปที่ สปป.ลาว เพื่อดูข้อมูล ข้อเท็จจริงในการเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ทั้งปริมาณผู้โดยสารและสินค้าต่อวันเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ ระบบรถไฟความเร็วสูงของลาว-จีนนั้นเป็นระบบทางเดี่ยว และมีเส้นทางบ่อเต็น-เวียงจันทน์ ซึ่งยังไม่ถึงชายแดนกับประเทศไทย ซึ่งในการเดินรถระยะแรก ยังมีขบวนรถวิ่งไม่มากนัก ดังนั้นคาดการณ์ว่าปริมาณสินค้าและผู้โดยสารจะยังคงไม่มาก
สำหรับการพัฒนารถไฟของประเทศไทยเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟของลาว-จีนนั้น มีการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356.10 กม. บริษัทปรึกษาอยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบ โดยจะเร่งรัดการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าในปี 2565 จะสามารถสรุปรายละเอียดและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเริ่มดำเนินการ
นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันเส้นทางถึงขอนแก่นแล้ว ส่วนระยะที่ 2 จากขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 169 กม. ซึ่งเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่าไม่เกินไตรมาส 2 ปี 2565 จะดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างได้ โดยทั้งโครงการรถไฟทางคู่จากขอนแก่น-หนองคาย และรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 จากนครราชสีมา-หนองคาย จะสามารถแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2570
ทั้งนี้ ในการเชื่อมต่อกับ สปป.ลาวนั้นจะต้องมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงใหม่ เพื่อให้รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่สามารถวิ่งเชื่อมกันได้ เนื่องจากสะพานเดิม ซึ่งปัจจุบันใช้ร่วมทั้งการเดินทางของรถยนต์และรถไฟ และมีโครงสร้างที่ความสามารถรองรับน้ำหนักรถไฟได้ประมาณ 15 ตันต่อตู้เท่านั้น ซึ่งสะพานใหม่ออกแบบให้รับน้ำหนักได้ประมาณ 30 ตันต่อตู้ จึงจะบูรณาการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเพื่อรองรับการเปิดเดินรถของลาว-จีน และปริมาณสินค้าที่อาจเพิ่มขึ้น กระทรวงคมนาคมได้มีการวางแผนในการเปลี่ยนขนถ่ายสินค้าทางบกไว้ก่อน ขณะที่ได้สั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) ลงเร่งดูพื้นที่ในการทำสถานีขนถ่ายสินค้าชั่วคราวก่อน จึงไม่น่ามีปัญหาอุปสรรคใดๆ
“เรื่องนี้ต้องพิจารณาข้อมูลอย่างละเอียด เพราะเบื้องต้น รถไฟทางฝั่ง สปป.ลาวยังเป็นทางเดี่ยว หากเป็นทางคู่ เชื่อว่าปริมาณสินค้าจะมาก ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการทำระบบขนส่งทางรางที่สมบูรณ์ และนายกรัฐมนตรีของไทยให้นโยบายการพิจารณาทำให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างประทศให้เหมาะสม สามารถดำเนินการโดยยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย”