อุดรธานี - รองประธานหอการค้าไทย เสนอนายกฯ 7 ข้อ เน้นพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม โลจิสติกส์ ให้ภาคการค้า การบริการ การท่องเที่ยว เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงจากจีน-สปป.ลาว ที่จะเริ่มเปิดให้บริการ 2 ธ.ค.นี้
นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค.) นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดอุดรธานีและจะประชุมร่วมกับจังหวัด ภาคเอกชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดอุดรธานีและแผนเปิดเมือง "อุดร พลัส โมเดล"
โอกาสนี้ ภาคเอกชนจังหวัดอุดรธานีจะมีข้อเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี กรณีการเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงจากจีน-สปป.ลาวในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น คาดการณ์ไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านคนต่อปี จึงเป็นโอกาสทางการค้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้มุ่งเป้าหมายทางการค้าสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้ง สปป.ลาว เวียดนาม จีน และกัมพูชา
ดังนั้น พื้นที่จังหวัดชายแดนฝั่งไทยจึงสมควรมีการเตรียมการเพื่อรองรับการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงจากจีน-สปป.ลาว จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในด้านการคมนาคม โลจิสติกส์ ให้ภาคการค้า การบริการ การท่องเที่ยว ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ณ จังหวัดเพชรบูรณ์ และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ณ จังหวัดหนองคาย ได้สร้างโอกาสทางการแข่งขันให้จังหวัดอุดรธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปแล้วระดับหนึ่ง
นายสวาทกล่าวต่อว่า เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานพร้อมรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในภาคอีสานตอนบนอันจะได้รับอานิสงส์จากรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ภาคเอกชนจึงต้องการเสนอขอให้มีการพัฒนาในโครงการต่างๆ เพื่อให้พื้นที่ภาคอีสานของไทยได้ประโยชน์ ดังนี้
1. การขยายผิวจราจรทางหลวงหมายเลข 2 อุดรธานี-หนองคาย 2. การขยายผิวจราจรทางหลวงหมายเลข 216 ถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานีด้านทิศตะวันออก 3. การขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ถนนสายแยกทางหลวง หมายเลข 2-พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ (หลวงตามหาบัว) อ.เมือง จ.อุดรธานี 4. เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-อุดรธานี, อุดรธานี-หนองคาย
5. การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดอุดรธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเติบโตของนักเดินทางและนักท่องเที่ยว และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 และ 6. Logistic Park ศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและโครงการท่าเรือบก (Inland Container Depot) จังหวัดอุดรธานี และ 7. พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้สอดรับกับการแข่งขันในเวทีสากล