บอร์ด รฟท.เคาะรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 2.97 หมื่นล้านบาท เร่งชง ครม.คาดอนุมัติในไตรมาส 2/65 เดินหน้าประมูล เริ่มสร้างปี 66 พร้อมเร่งดันช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย เชื่อมต่อสายเด่นชัย-เชียงของไร้รอยต่อ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564 มีมติอนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษา สำรวจอสังหาริมทรัพย์ 9 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 369 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาจัดการประกวดราคา 7 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 28,759 ล้านบาท ค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 604 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการปี 2565-2569
หลังจากนี้ รฟท.จะสรุปรายละเอียดนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป โดยคาดไทม์ไลน์เบื้องต้นว่า ครม.จะอนุมัติโครงการประมาณไตรมาส 2 ปี 2565 จากนั้นจะดำเนินการ ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ไตรมาส 3-4 ปี 2565 พร้อมกับจัดทำร่าง TOR ราคากลางและประกวดราคา จากนั้นเริ่มสำรวจอสังหาริมทรัพย์ และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในปี 2566-2567 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน แล้วเสร็จต้นปี 2569
สำหรับรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เป็นหนึ่งในโครงการในแผนการพัฒนารถไฟทางคู่ระยะ 2 ที่มีจำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 1,483 กม. วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.73 แสนล้านบาท ซึ่งจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ รฟท.ศึกษาและจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งพบว่าโครงการช่วงขอนแก่น-หนองคายมีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเป็นเส้นทางตามยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมไปยังประเทศจีนตอนใต้ และเปิดให้บริการแล้ว
นอกจากนี้ยังมีความพร้อมที่สุด เพราะมีการออกแบบแล้ว ได้รับอนุมัติ EIA แล้ว คาดการณ์ปริมาณสินค้าในปี 2580 ที่ 12 ล้านตัน/ปี มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 18.46%
ส่วนรถไฟทางคู่ระยะ 2 ที่เหลืออีก 6 เส้นทาง ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย, เด่นชัย-เชียงใหม่, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์นั้น เส้นทางที่มีความสำคัญและควรเร่งผลักดัน คือ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ให้มีความสมบูรณ์ไร้รอยต่อ
ขยายเวลาสร้าง Skywalk เชื่อมสถานีหลักสี่กับ รพ.จุฬาภรณ์อีก 30 วันชดเชยปิดไซด์งานหนีโควิด
นอกจากนี้ บอร์ด รฟท.ยังขยายเวลาก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางเชื่อม Skywalk ระหว่างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์กับสถานีหลักสี่ (รถไฟสายสีแดง) ตามพระดำริ ออกไป 30 วัน เนื่องจากผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างเป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 34 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนก 2564 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ทั้งนี้ รฟท.ได้ทำสัญญาจัดจ้างกิจการร่วมค้า NWR-AVP (บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอ็ดวานซ์ พรีแฟบ (จำกัด) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางเชื่อม Skywalk วงเงิน 238.22 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 240 วัน ซึ่งการขยายเวลาก่อสร้างดังกล่าวทำให้สัญญาจะสิ้นสุดวันที่ 21 ธ.ค. 2565
โดย Skywalk มีความยาว 750 เมตร กว้าง 4 เมตร ปัจจุบันการก่อสร้างกว่า 60% โดยอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างส่วนของเสาและการวางคาน แต่ยังล่าช้ากว่าแผนประมาณ 20% เนื่องจากมีปัญหาในการก่อสร้างช่วงแรกส่วนของฐานรากที่มีผลกระทบจากฐานรากโครงการโฮปเวลล์ทำให้ต้องมีการปรับแบบบางส่วน และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงที่เกิดโควิด-19