"ศักดิ์สยาม" สั่งเร่งก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟสแรก พบ 6 สัญญายังล่าช้า พร้อมดันช่วงขอนแก่น-หนองคาย เร่งชง ครม.เพิ่มประสิทธิภาพขนส่งเชื่อม สปป.ลาว
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ (ประชุมครั้งที่ 3) ด้วย Application “Zoom” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เข้าร่วมการประชุม โดย รฟท.ได้รายงานผลการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ว่า มีการก่อสร้างเร็วกว่าแผนงานจำนวน 3 สัญญา ได้แก่
1. โครงการฯ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 1 มีผลงานการก่อสร้าง 62.46% 2. โครงการฯ ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 1 มีผลงานการก่อสร้าง 93.99% และ 3. โครงการฯ ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 2 มีผลงานการก่อสร้าง 90.11%
ส่วนงานก่อสร้างที่ล่าช้ากว่าแผนมี 6 สัญญา ได้แก่ 1. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 2 มีผลงานการก่อสร้าง 69.88% 2. ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 มีผลงานการก่อสร้าง 92.10% 3. ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 3 มีผลงานการก่อสร้าง 88.82%
4. ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ มีผลงานการก่อสร้าง 99.94% 5. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 1 มีผลงานการก่อสร้าง 82.82% 6. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 2 มีผลงานการก่อสร้าง 82.35%
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้กำชับให้ รฟท. กำกับดูแลให้ผู้รับจ้างเร่งรัดการก่อสร้าง สัญญาที่มีผลการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงานให้มีผลการก่อสร้างเป็นไปตามแผนงานโดยเร็ว
นอกจากนี้ ให้ รฟท.เร่งรัดการนำเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟทางคู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนให้มีความสมบูรณ์ และสามารถเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์กับ สปป.ลาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยให้ รฟท.เร่งรัดการเสนอโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีตามแผนงานที่กำหนดไว้ และเมื่อคณะกรรมการ รฟท.พิจารณาเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ในช่วงขอนแก่น-หนองคายแล้ว ให้ รฟท.ทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบการดำเนินงานและประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ให้นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับประสบการณ์ที่มีปัญหาในอดีตมาปรับปรุง ให้การนำเสนอโครงการเกิดความสมบูรณ์
นอกจากนี้ ให้ รฟท.รวบรวมข้อมูลปริมาณการขนส่งสินค้าจากการเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีน ว่ามีผลกระทบต่อปริมาณการขนส่งสินค้าภายในประเทศอย่างไร และเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วนประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง ของ รฟท. ให้ รฟท.ประสานขอข้อมูลแรงงานในระบบฐานข้อมูลของกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำหรับการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างบริเวณสะพานสีมาธานีนั้น ให้ รฟท.จัดทำทางเลือกในการดำเนินโครงการให้ครบถ้วนสำหรับนำไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เช่น ทางเลือกในการอ้อมเมืองตามแนวคิดของ MR-MAP และพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางให้ครบถ้วน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับการพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะส่วนที่ผ่านตัวเมืองใหญ่ ให้ รฟท.ออกแบบด้วยความรอบคอบ โดยให้นำนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ใหม่ประกอบการพิจารณาด้วย
ส่วนปัญหามีการขโมยอุปกรณ์ระบบอาณัติสัญญาณ (Signalling) โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น ให้ รฟท.ศึกษาแนวทางของกรมทางหลวง ทล.ในการป้องกันการขโมยอุปกรณ์ทางหลวง
ส่วนกรณีสถานการณ์เพดานหนี้สาธารณะของประเทศ ขอให้ รฟท.ศึกษาแนวทางอื่นๆ ที่เหมาะสมกับการดำเนินโครงการของ รฟท.เพื่อลดภาระการพึ่งพางบประมาณของประเทศ เช่น การทำ PPP หรือการศึกษาแนวทางการทำ TFF ของ กทพ. เพื่อให้สามารถแปลงแผนงานไปสู่การปฏิบัติจริงได้
อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาโครงการรถไฟสายใหม่ ให้ รฟท.ตรวจสอบรายละเอียดให้ครบถ้วนว่ามีปัญหาในส่วนใดหรือไม่ โดยจัดทำเป็น Checklist หากมีปัญหาอุปสรรคให้ดำเนินการแก้ไขตามขั้นตอนทันที