รฟท.สรุปสถานีรถไฟทางคู่ใช้ชานสูง 1.10 เมตรทั้งหมด หลังคณะทำงานถกข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบรอบด้าน “นิรุฒ” เผยยึดความปลอดภัยสูงสุด ชี้ สนข.ศึกษาไว้ดีแล้ว ส่วนสายใต้ต้องแก้เป็นชานสูงก่อนตรวจรับงาน พร้อมกำหนดแผนความปลอดภัย ลดความเร็วช่วงผ่านสถานีเล็ก
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มี นายจิรุฒม์ วิศาลจิตร เป็นประธานเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 ได้รับทราบผลการพิจารณาการใช้ความสูงของชานชาลารถไฟ ระดับ 1.10 เมตร ทุกสถานี ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะแรก 5 เส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ออกแบบไว้และเป็นไปตาม TOR ประมูล
ทั้งนี้ จากที่มีประเด็นวิพากษณ์วิจารณ์กรณีการปรับแบบก่อสร้างชานชาลา 1.10 เมตร หรือชานสูง ในสถานีขนาดใหญ่ และชานชาลา 0.50 เมตร หรือชานต่ำ ในสถานีขนาดเล็ก และป้ายหยุดรถ เนื่องจากมีประเด็นเรื่องความปลอดภัย และความสะดวกสบายของผู้โดยสาร รฟท.จึงได้ตั้งคณะทำงานโดยมีตนเป็นประธานเพื่อพิจารณา โดยเฉพาะสถานีขนาดเล็ก หรือป้ายหยุดรถที่รถไฟบางขบวนไม่จอด
คณะทำงานฯ ได้มีการประชุมหลายครั้งจนได้ข้อสรุปว่ายังคงรูปแบบชานสูงตามที่ สนข.ออกแบบไว้ เนื่องจากได้มีการศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว และเป็นไปตาม TOR ที่ประกวดราคา สำหรับในเรื่องความปลอดภัยนั้น รฟท.จะมีการกำหนดมาตรการดูแลให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการเดินรถและให้บริการ
เช่น เมื่อขบวนรถวิ่งผ่านสถานีขนาดเล็กที่มีชานสูงจะลดความเร็วลง โดยจะมีการกำหนดเป็นมาตรฐาน ซึ่งจะพิจารณาในเรื่องประเภทรถไฟประกอบด้วย เพราะหากตัวรถแคบก็จะไม่กระทบใดๆ วิ่งด้วยความเร็วปกติ ส่วนสถานีใหญ่นั้นรถไฟจอดอยู่แล้วไม่มีปัญหา ซึ่งไม่ว่าชานสูง หรือชานต่ำ ทุกแบบต้องมั่นใจเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก แต่ยอมรับว่าอาจทำให้การเดินรถล่าช้าไปบ้าง
ส่วนสถานีหรือป้ายหยุดรถที่มีการก่อสร้างเป็นชานต่ำไปแล้วนั้น นายนิรุฒกลาวว่า ขณะนี้การก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะแรกยังไม่มีการตรวจรับงาน ดังนั้น หากสถานีใดมีการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามแบบและ TOR ก็จะต้องปรับแก้ให้ถูกต้อง ทุกแบบต้องมั่นใจเรื่องความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นชานสูง ชานต่ำ
@สายใต้ หัวหิน- ประจวบฯ ทำชานต่ำไปแล้วต้องเร่งแก้ไข
รายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2564 บอร์ด รฟท.ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาให้ข้อเสนอแนะการพิจารณาระดับความสูงของชานชาลาของ รฟท. โดยมีผู้ว่าฯ รฟท.เป็นประธานและมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม เช่น สนข. กรมการขนส่งทางราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาวิศวกร สมาคมสถาปนิกสยาม สมาคมคนพิการ สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย
โดยคณะทำงานมีการประชุม 5 ครั้ง และได้มีมติให้ใช้ความสูงของชานชาลา 1.10 เมตร จากระดับสันราง ให้ตัวชานชาลาสถานีมีความสูงเท่ากับพื้นรถสำหรับสถานีทุกขนาด คือ สถานีขนาดใหญ่ สถานีขนาดกลาง สถานีขนาดเล็ก ที่หยุดรถ และป้ายหยุดรถ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยให้ รฟท.พิจารณามาตรการเพิ่มเติม เช่น จำกัดความเร็วเมื่อขบวนรถผ่านสถานี การปรับปรุงสภาพทางและซ่อมบำรุง การกำหนดระยะห่างระหว่างตัวรถกับขอบชานชาลา และการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการตามหลักการออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Design)
เนื่องจากก่อนหน้านี้ รฟท.มีความกังวลในด้านความปลอดภัย กรณีสถานีเล็กที่ชานสูง มีข้อกังวลการล้ำเขตโครงสร้างของจมูกชานชาลา รวมถึงระยะปลอดภัยระหว่างตัวรถไฟกับขอบชานสูงที่มีช่องว่างเหลือ 90 มิลลิเมตร แต่หากเป็นชานต่ำจะไม่มีปัญหาเรื่องช่องว่างและไม่ต้องกังวลเรื่องขบวนรถวิ่งผ่านและมีการโคลงไปกระแทกกับชานชาลา จึงทำให้มีการปรับแบบก่อสร้างชานต่ำไปแล้ว เช่น สายใต้ สัญญา 3 ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 13 แห่ง ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปชานสูงผู้รับเหมาต้องแก้ไข
จากการเปรียบเทียบชานสูงกับชานต่ำในเรื่องค่าใช้จ่าย พบว่าค่าก่อสร้างชานต่ำมีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า แต่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มภายหลังเมื่อต้องปรับแก้เป็นชานสูง, ด้านความปลอดภัย ชานสูงมีข้อกังวลเรื่องการล้ำเขตโครงสร้างชานชาลา ร่นระยะขอบชานชาลาอีก 10-20 ซม., ด้านบริการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารนั้น ไม่ว่าชานสูงหรือชานต่ำ ในระยะแรก รฟท.จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลผู้ใช้บริการทุกคน, สำหรับการเดินรถ ให้ รฟท.พิจารณาความเร็วให้สอดคล้องกับขนาดรถ, รฟท.อยู่ระหว่างปรับปรุงรถโดยสารให้รองรับชานสูง โดยจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2567
อย่างไรก็ตาม รถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงชุมทางถนนจิระขอนแก่น ก่อสร้างชานสูงเสร็จแล้ว ก็ยังไม่พบปัญหารถเฉี่ยวชนชานชาลาแต่อย่างใด และพบว่าผู้พิการสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย