xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” อัดลงทุนภาคใต้กว่า 2.1 แสนล้าน พัฒนารถไฟทางคู่ 10 เส้นทาง-ยกระดับสนามบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คมนาคมอัดลงทุนกว่า 2.1 แสนล้านยกระดับระบบขนส่งภาคใต้ สร้างรถไฟทางคู่ 10 เส้นทาง ขยายสนามบินระนองรองรับแลนด์บริดจ์ พร้อมเร่งโอนกระบี่ให้ ทอท.บริหาร 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ในพื้นที่ภาคใต้ว่า ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการในระยะเร่งด่วนจำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 422 กม. วงเงินลงทุน 45,358 ล้านบาท ตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2566 ได้แก่ 
1. นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 19,270 ล้านบาท โดยสัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ณ เดือน ต.ค. 2564 คืบหน้า 93.950% เร็วกว่าแผน 1.978% สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน คืบหน้า 89.622% เร็วกว่าแผน 0.024%

2. หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงิน 9,853 ล้านบาท คืบหน้า 97.54% ล้าช้ากว่าแผน 2.46%

3. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 16,235 ล้านบาท สัญญา 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย คืบหน้า 81.963% ช้ากว่าแผน 8.918%

สำหรับแผนระยะกลางปี 2565-2569 มีจำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กม. วงเงินลงทุน 83,050 ล้านบาท ได้แก่ 1. ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 23,285 ล้านบาท 2. สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 339 กม. วงเงิน 51,823 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3. หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ รายงาน EIA อนุมัติแล้ว เตรียมเสนอ ครม. 

แผนระยะยาวปี 2570-2579 เป็นการลงทุนก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ จำนวน 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 419 กม. วงเงินลงทุน 98,676 ล้านบาท ได้แก่ 1. ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กม. วงเงิน 29,223 ล้านบาท เตรียมออกแบบแนวใหม่ให้สอดคล้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ 2. สุราษฎร์ธานี-พังงา-ท่านุ่น ระยะทาง 163 กม. วงเงิน 36,128 ล้านบาท 3. สุราษฎร์ธานี-ดอนสัก ระยะทาง 79 กม. วงเงิน 18,102 ล้านบาท ออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA ตามความเห็นของ คชก. 4. ทับปุด-กระบี่ ระยะทาง 68 กม. วงเงิน 15,223 ล้านบาท ออกแบบเบื้องต้นเสร็จแล้ว 

@อัดงบ 3.5 พันล้านพัฒนาสนามบินระนอง หนุนแลนด์บริดจ์ 

สำหรับสนามบินในพื้นที่ภาคใต้มีจำนวน 11 แห่ง โดยมีแผนพัฒนาขยายขีดความสามารถจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ สนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินภูเก็ต สนามบินพังงา (ภูเก็ตแห่งที่ 2) สนามบินกระบี่ สนามบินตรัง สนามบินเบตง สนามบินชุมพร สนามบินระนอง โดยได้รับงบประมาณปี 2565 

สนามบินระนอง มีเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ โดยเพิ่มศักยภาพให้เป็น International Airport สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น โดยระยะที่ 1 ปี 2566-2568 งบประมาณรวม 2,280 ล้านบาท ได้แก่ ขยายความยาวทางวิ่ง จากขนาด 45x2,000 เมตร เป็นขนาด 45x2,400 เมตร สามารถรองรับอากาศยานขนาด 230 ที่นั่ง ก่อสร้างทางขับขนานใหม่ ให้สามารถรองรับเที่ยวบินจากเดิม 6 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เป็น 10 เที่ยวบิน/ชั่วโมง ขยายลานจอดเครื่องบิน จากเดิม 3 ลำ เป็น 10 ลำ ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ (Domestic/International) รองรับได้ 2.8 ล้านคน/ปี (1,000 คน/ชั่วโมง) จากเดิม 8 แสนคน/ปี (300 คน/ชั่วโมง) ก่อสร้างลานจอดรถยนต์ รองรับได้ 500 คัน จากเดิม 250 คัน

ส่วนแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง ระยะที่ 2 ปี 2568-2571 จะดำเนินการขยายความยาวทางวิ่งจากเดิม 2,400 เมตร เป็น 2,990 เมตร ก่อสร้างทางขับขนานใหม่ และก่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง หัวทางวิ่ง ใช้งบประมาณ 1,250 ล้านบาท

@ลงทุนกว่า 2.9 พันล้านขยายกระบี่รับ 8 ล้านคน พร้อมเร่งโอนให้ ทอท.บริหาร 

สำหรับสนามบินกระบี่ มีแผนพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 1,500 คนต่อชั่วโมง เพิ่มเป็น 3,000 คนต่อชั่วโมง หรือจาก 4 ล้านคนต่อปี เป็น 8 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุน 2,923 ล้านบาท โดยมีการก่อสร้างลานจอดเครื่องบินพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน แล้วเสร็จเมื่อ 26 มกราคม 2564 งานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1 และ 2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2565 งานก่อสร้างทางขับทางขนาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2566 และมีแผนการพัฒนาเพื่อขยายความยาวทางวิ่งเพิ่มขึ้น โดยการเวนคืนที่ดิน และการติดตั้งไฟนำร่อง Approach Light CAT I

และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อการส่งมอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เข้ามาบริหารจัดการแทนตามนโยบายกระทรวงคมนาคม  

สนามบินระนอง

สนามบินกระบี่




กำลังโหลดความคิดเห็น