xs
xsm
sm
md
lg

'อาคม' คาดจีดีพี ปี 65 โต 4% พร้อมอัดฉีดเงินเข้าระบบกระตุ้น ศก. 4 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อาคม” คาดการณ์จีดีพีปีนี้โต 1% ลุ้นอานิสงส์ส่งออก-เปิดประเทศหนุนเศรษฐกิจปีหน้าทะยานแตะ 4% ขณะที่รัฐเตรียมอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ 4 ล้านล้านบาท ลงทุนเสริมแกร่งขีดความสามารถการแข่งขันประเทศ หวังอีอีซีตัวจุดระเบิดใหม่ดันเศรษฐกิจไทยโตระยะยาว

15 พ.ย. 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐากถาพิเศษ หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ฟื้นเศรษฐกิจ 2022” ในงานสัมมนาออนไลน์ WEALTH VIRTUAL FORUM ลงทุนอย่างไร…ให้รวย? ว่า ปี 2564 มั่นใจว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะเติบโตได้ที่ 1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระลอกที่ 2 และ 3 โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าจะไม่ได้รับความเดือดร้อนมากจนเกินไป
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจหลายตัวยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออก จากทิศทางเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ส่งออกอย่างมาก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น หลังจากเริ่มทดลองโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จนถึงนโยบายการเปิดประเทศอย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยนโยบายเหล่านี้ได้ดำเนินคู่ขนานไปกับการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 จนส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ฟื้นตัวดีขึ้นและเดินหน้าได้

สำหรับปี 2565 กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ที่ระดับ 4% เป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ยังมีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทยอย่างมาก รวมถึงนโยบายที่ชัดเจนของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะเป็นโอกาสให้การลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ซึ่งจะกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า
ขณะเดียวกันยังมีเม็ดเงินจากภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 3.7-4 ล้านล้านบาท โดยมาจากงบประมาณรายจ่ายปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท เม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินโควิดเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ที่ยังเหลือวงเงินอีก 3 แสนกว่าล้านบาท และเม็ดเงินจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 3 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งเงินงบประมาณภาครัฐราว 20% จะเน้นเรื่องการลงทุน คือ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งโครงการรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และโครงการด้านพลังงานทดแทน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยเฉพาะโครงการ 5G

“ปีหน้าส่งออกของไทยยังมั่นใจว่าจะขยายตัวต่อได้ โดยมองว่าทิศทางค่าเงินจะยังเอื้อต่อภาคการส่งออกเป็นอย่างดี ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่ถือเป็นรายได้หลักของประเทศนั้น หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง มีการเปิดประเทศ เปิดเมือง ภาคการท่องเที่ยวก็จะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมา ปี 2565 คงยังไม่เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 40 ล้านคน นี่เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะค่อย ๆ ดีขึ้นต่อเนื่อง” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวอีกว่า เครื่องยนต์ใหม่ที่จะช่วยสร้างอัตราการเติบโตให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้า และระยะต่อไป ส่วนหนึ่งจะมาจากโครงการลงทุนในอีอีซี ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ 12 อุตสาหกรรมซึ่งเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

นอกจากนี้ ภาครัฐยังเดินหน้าในการสนับสนุนภาคเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมากขึ้น โดยได้กำชับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้เตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพอย่างเต็มที่ เพราะรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างทั่วถึง ไม่กระจุกอยู่ในภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในเศรษฐกิจฐานราก

“เมื่อเปิดประเทศแล้ว เศรษฐกิจจะต้องเดินควบคู่ไปกับมาตรการดูแลโควิด-19 ต้องทำอย่างไรให้ทั้ง 2 เรื่องเดินไปพร้อมกันได้ ปีหน้ายังเป็นปีที่ต้องระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกส่วนต้องร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดอีก ตรงนี้สำคัญ ไม่เช่นนั้นเราจะต้องมีต้นทุนด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นไปอีก ต้องช่วยกันในเรื่องนี้เพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ โดยภาคการคลังยังแข็งแกร่ง สะท้อนจากอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของต่างประเทศ ที่ยังเชื่อมั่นกับเศรษฐกิจไทย โดยรัฐบาลยืนยันจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ การลดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ในปี 2565 ประเทศไทยจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รวมทั้งที่ผ่านมาก็เน้นลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานทดแทนมากขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนเองเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจแบบกรีนบิสเนสมากขึ้นด้วย

ส่วนภาคตลาดเงินและตลาดทุนมีการปรับตัวสู่ดิจิทัลมากขึ้น โดยมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่อย่าง คริปโตเคอเรนซี ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเชื่อว่าในปี 2565 จะมีผู้เล่นรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีการออกกฎเกณฑ์ และหน่วยงานที่กำกับดูแลในส่วนนี้ขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าการซื้อขายและลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่นี้จะเป็นไปตามกฎ กติกา เป็นธรรม และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น