xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เร่งผุด "แลนด์บริดจ์" สร้างปี 68 เปิดปี 73 ลดต้นทุนขนส่งเชื่อม”ระนอง-ชุมพร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม”ลงพื้นที่ระนอง โชว์โปรเจกต์คมนาคมเร่งพัฒนา "แลนด์บริดจ์"  ก่อสร้างปี 68 เปิดในปี 73 ช่วยลดเวลา-ต้นทุนขนส่งข้ามฝั่งอ่าวไทยไปยังอันดามัน ลุย "ไทยแลนด์ริเวียร่า" กว่า 77 กม. ขยายรันเวย์-เทอร์มินัลใหม่ สนามบินระนอง รับ 2.8 ล้านคน/ปี

วันที่ 12 พ.ย. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดระนอง และเป็นประธานส่งมอบพื้นที่แขวงทางหลวงระนองให้กับโรงพยาบาลระนอง เพื่อใช้พัฒนาเพิ่มศักยภาพรองรับการให้บริการด้านสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่จังหวัดระนอง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยภายหลังรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดระนอง ว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในส่วนของถนน กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการพัฒนาโครงข่ายถนน  จาก 2 ช่องทางเป็น 4 ช่องทาง ได้แก่ โครงการทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) สายชุมพร - ระนอง ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2565 และ สายระนอง - สุขสำราญ ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างตามแผนปีงบประมาณ 2566 - 2570 เพื่อรองรับแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge)


โดยโครงการแลนด์บริดจ์นั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปี 2564 – 2565 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 และเปิดให้บริการได้ปี 2573 ซึ่งจะช่วยลดเวลาและระยะทางในการขนส่ง ประหยัดต้นทุนในการขนส่ง หลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดของช่องแคบมะละกา สามารถจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้มากขึ้น

@ ทช.ชงครม.สัญจร ลุย”ไทยแลนด์ริเวียร่า” จ.ระนองกว่า 77 กม.

ส่วนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ปัจจุบันมีศักยภาพโครงข่ายทางหลวงชนบท จำนวน 22 สายทาง ระยะทางรวม 310.728 กม. ครอบคลุมทั้ง 4 อำเภอในจังหวัดระนอง โดยในปี 2565 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 33 โครงการ วงเงิน รวม 268 ล้านบาท และในอนาคต ทช.จะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าในประเทศผ่านการพัฒนาถนนสู่ท่าเรือระนอง ระยะทางรวม 14.970 กม.

และการพัฒนาทางหลวงชนบทเพื่อสนับสนุนโครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Riviera) ในพื้นที่จังหวัดระนอง รวมระยะทาง 77.121 กม. ซึ่งเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงคมนาคมพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพิ่มเติมจากถนนเพชรเกษม เพื่อความสะดวกต่อการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยว และส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ณ จังหวัดกระบี่


@ขยายรันเวย์-เทอร์มินัลใหม่ สนามบินระนอง รับ 2.8 ล้านคน/ปี

กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานระนอง เพื่อเพิ่มศักยภาพ ให้เป็น International Airport สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น โดยระยะที่ 1 ปี 2566 – 2568 ได้แก่ ขยายความยาวทางวิ่ง จากขนาด 45 x 2,000 เมตร เป็นขนาด 45 x 2,400 เมตร สามารถรองรับอากาศยานขนาด 230 ที่นั่ง ก่อสร้างทางขับขนานใหม่ ให้สามารถรองรับเที่ยวบินจากเดิม 6 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เป็น 10 เที่ยวบิน/ชั่วโมง ขยายลานจอดเครื่องบิน จากเดิม 3 ลำ เป็น 10 ลำ ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ (Domestic/International) รองรับได้ 2.8 ล้านคน/ปี (1,000 คน/ชั่วโมง) จากเดิม 8 แสนคน/ปี (300 คน/ชั่วโมง) ก่อสร้างลานจอดรถยนต์ รองรับได้ 500 คัน จากเดิม 250 คัน งบประมาณรวม 2,280 ล้านบาท

โดยปัจจุบันได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2565 สำหรับศึกษาออกแบบรายละเอียดและผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว

ส่วนแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง ระยะที่ 2 ปี 2568 – 2571 จะดำเนินการขยายความยาวทางวิ่งจากเดิม 2,400 เมตร เป็น 2,990 เมตร ก่อสร้างทางขับขนานใหม่ และก่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง หัวทางวิ่ง ใช้งบประมาณ 1,250 ล้านบาท

ปัจจุบันท่าอากาศยานระนองมีความพร้อมในการให้บริการตามนโยบายการเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรี ภายใต้มาตรการ D M H T T A รวมทั้งมีความพร้อมทั้งด้านอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

@ พัฒนาท่าเรือระนอง รองรับ 4 แสนทีอียูเปิดเฟสแรกปี 69

ด้านการขนส่งทางน้ำ กรมเจ้าท่า (จท.)ได้ศึกษาด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมของโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำท่าเรือเอนกประสงค์ระนอง โดยได้ออกแบบขุดลอกร่องน้ำให้ได้ระดับความลึก 12 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด เพื่อให้ร่องน้ำเดินเรือมีความลึก ช่วยให้การเดินเรือเข้าออกท่าเรือเอนกประสงค์ระนองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ 2566


ส่วนการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีแผนการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการของท่าเรือระนอง 2 ระยะ เพื่อยกระดับการขนส่งสินค้าในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เชื่อมโยงการค้าฝั่งอ่าวไทยและอันดามันและก้าวเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศ BIMSTEC โดยระยะที่ 1 ได้แก่ การปรับปรุงท่าเทียบเรือที่ 1 (ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์) รองรับเรือสินค้าทั่วไปขนาด 500 GT (ton gross) พร้อมกัน 2 ลำ ปรับปรุงท่าเทียบเรือที่ 2 (ท่าเทียบเรือตู้สินค้า) รองรับเรือตู้สินค้า ขนาด 12,000 DWT ก่อสร้างลานวางตู้สินค้า รองรับตู้ 320,258 TEUsต่อปี โดยจะเปิดให้บริการโครงการระยะที่ 1 ในปี 2569

ระยะที่ 2 จะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ 3 (ท่าเทียบเรือตู้สินค้า) รองรับเรือ 12,000 DWT ก่อสร้างลานวางตู้สินค้า ส่วนต่อขยาย โดยทั้ง 2 ระยะ รองรับตู้ 499,226 TEUs ต่อปี และสามารถเปิดให้บริการในระยะที่ 2 ได้ในปี 2583


กำลังโหลดความคิดเห็น