กรมรางเร่งแก้ปัญหาปิดจุดตัดทางรถไฟบริเวณบ้านศาลาลัย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กระทบรถขนส่งผู้เพาะเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ ถกผู้รับเหมาทางคู่สายใต้เร่งสร้างทางข้าม/ลอด รับรถสูงไม่เกิน 4 เมตร
กรมการขนส่งทางราง (ขร.) แจ้งว่า ตามที่กรมการขนส่งทางรางได้รับทราบข้อร้องเรียนของประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 64 เรื่องปัญหาการปิดจุดตัดทางถนนและทางรถไฟบริเวณบ้านศาลาลัย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ชาวบ้านผู้เพาะเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ไม่สามารถขนสินค้าการเกษตรโดยรถบรรทุกผ่านจุดตัดทางรถไฟได้ ทำให้สินค้าการเกษตรเกิดความเสียหายนั้น
เมื่อวันที่ 17-18 พ.ย. 64 กองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง ขร.จึงได้ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหา โดยบริเวณดังกล่าวเดิมเป็นจุดตัดทางรถไฟกับถนนเสมอระดับ มีอุปกรณ์ประเภทไม้กั้น ต่อมาได้มีการก่อสร้างเป็นจุดตัดต่างระดับประเภททางลอด (Underpass) ในบริเวณข้างเคียงในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ จึงได้มีการปิดจุดตัดเสมอระดับ แต่เนื่องด้วยทางลอดมีความสูง 3 เมตร ทำให้รถบรรทุกไม่สามารถสัญจรลอดผ่านได้
จากการหารือแนวทางการแก้ปัญหากับบริษัทผู้รับเหมาและบริษัทผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ได้ข้อสรุปให้มีการประสานเทศบาลตำบลไร่เก่าเพื่อให้มีการก่อสร้างทางข้ามหรือทางลอดในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งทางข้ามหรือทางลอดที่จะสร้างใหม่จะรองรับรถที่มีความสูงไม่เกิน 4 เมตร พร้อมให้มีมาตรการการป้องกันน้ำท่วมบริเวณดังกล่าว รวมทั้งก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟเพื่อให้สามารถเลี่ยงไปใช้ทางที่จะสร้างใหม่ได้ โดยให้มีการหารือถึงรูปแบบและวิธีการกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือได้มีการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจุดตัดทางรถไฟในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี โดยในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จุดตัดบริเวณกิโลเมตรที่ 207+214 จุดตัดที่ 234+555 และจุดตัดที่ 265+060 ได้มีการก่อสร้างทางข้าม (Overpass) แล้ว ส่วนจุดตัด 246+708 จุดตัด 253+953 และจุดตัด 293+040 ได้ดำเนินการก่อสร้างทางลอด (Underpass) สำหรับจังหวัดเพชรบุรี จุดตัด 145+296 และจุดตัด 160+149 ได้มีการก่อสร้างทางข้ามแล้ว
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร ได้มีการปรับปรุงจุดตัดเสมอระดับต่างๆ ให้เป็นจุดตัดต่างระดับ พร้อมติดตั้งรั้วกั้นสองข้างทางตามแนวเขตทางรถไฟ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟอย่างยั่งยืน