กทพ.ชงบอร์ดวันนี้ เคาะรับโครงการสะพานพระสมุทรเจดีย์จาก ทช.ระดม TFF ก่อสร้างช่วยประหยัดงบรัฐก่อนเดินหน้าโอนแบบ 3 ช่วงจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา พ่วงโครงข่ายเชื่อมบางนา-ตราด
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า จากนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้ กทพ. กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) บูรณาการความร่วมมือแนวทางการใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมเพื่อช่วยลดภาระงบประมาณรัฐบาลนั้น เบื้องต้นมีโครงการของ ทช.ที่มีความเป็นไปได้ในการลงทุนด้วยการระดมทุนจาก TFF ได้แก่ โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. วันที่ 25 ม.ค. 2565 นี้พิจารณาในหลักการ จากนั้น กทพ.จะเดินหน้ารับโอนแบบ และผลการศึกษาโครงการจาก ทช.เพื่อมาดำเนินการต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า เดิม ทช.ออกแบบโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ-จ.
สมุทรสาคร ระยะทาง 59 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 3 ช่วง โดยมีสะพานข้ามแม่น้ำ 2 แห่ง คือ ช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และข้ามแม่น้ำท่าจีน ออกแบบลักษณะเดียวกับสะพานโกลเดนเกต ขนาด 6 ช่องจราจร ซึ่งช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีระยะทางประมาณ 1.1 กม.
ช่วงที่ 1 เริ่มจากถนนพระราม 2 บริเวณก่อนถึงทางแยกถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน จากนั้นจะข้ามคลองสุนัขหอน ข้ามทางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลอง เลี้ยวซ้ายผ่านพื้นที่นาเกลือพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และพื้นที่เกษตร ก่อนจะข้ามแม่น้ำท่าจีนข้างป่าชายเลนของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน จ.สมุทรสาคร จากนั้นเลี้ยวขวาจนสิ้นสุดโครงการช่วงที่ 1 ระยะทาง 15 กม.
ช่วงที่ 2 เริ่มจากจุดเชื่อมต่อกับถนนสหกรณ์ขนานกับคลองพิทยาลงกรณ์ ผ่านพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่นาเกลือ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และ ต.บ้านสวน นาเกลือ แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ สิ้นสุดโครงการช่วงที่ 2 ระยะทาง 27 กม.
ช่วงที่ 3 เริ่มจากจุดเชื่อมต่อถนนประชาอุทิศ-วัดคู่สร้าง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกองเรือทุ่นระเบิด ผ่านถนนท้ายบ้านวัดอโศการาม ถนนสุขุมวิท ถนนแพรกษา สิ้นสุดโครงการช่วงที่ 3 ที่ถนนเทพารักษ์ ระยะทาง 20 กม. มีรูปแบบการ
ก่อสร้างลักษณะเดียวกับสะพานโกลเดนเกตในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ในการดำเนินการโครงการสะพานพระสมุทรเจดีย์ ภายใต้แนวทางการบูรณาการร่วมกับ กทพ.นั้น ได้มีการปรับงานก่อสร้างออกเป็น 6 ช่วง และเพิ่มโครงข่ายส่วนเชื่อมต่อถนนเทพารักษ์ถึงถนนบางนา-ตราด ระยะทางประมาณ 5.070 กม. รวมเป็น 7 ช่วง
เบื้องต้น ทช.จะดำเนินการช่วงที่ 1-4 ระยะทางรวม 42.28 กม. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณารายงาน EIA โดยทช.ได้ตั้งงบประมาณปี 2566 จำนวน 42 ล้านบาท ในการดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ส่วน กทพ.จะรับดำเนินการช่วง 5-7 ซึ่งมีระยะทางรวม 21.927 กม. และมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 1 แห่งที่จะดำเนินการก่อสร้างและเก็บค่าผ่านทางได้
สำหรับโครงการสะพานพระสมุทรเจดีย์ ระยะทางรวม 59.137 กม. พร้อมโครงข่ายส่วนเชื่อมต่อถนนเทพารักษ์ถึงถนนบางนา-ตราด อีกประมาณ 5.070 กม. แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 7 ช่วง ประกอบด้วย
ช่วงที่ 1 จุดเริ่มต้นโครงการถนนพระราม 2-ทางขึ้น-ลงบางหญ้าแพรก เชื่อมต่อถนน สค.2020 (กม.0+000 ถึง
7+970) ระยะทาง 7.970 กม.
ช่วงที่ 2 จากทางขึ้น-ลงบางหญ้าแพรก-ทางขึ้น-ลงโคกขาม เชื่อมต่อ ทล.3423 (กม.7+970 ถึง 16+440) ระยะทาง 8.470 กม. มีสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน 1 แห่ง
ช่วงที่ 3 จากทางขึ้น-ลงโคกขาม-ทางขึ้น-ลงบางขุนเทียนชายทะเล เชื่อมต่อถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล (กม.16+440-ถึง 27+050) ระยะทาง 10.610 กม.
ช่วงที่ 4 จากทางขึ้น-ลงบางขุนเทียนชายทะเล-ทางขึ้น-ลงแหลมฟ้าผ่า เชื่อมต่อถนนคลองสรรพสามิต (กม.27+050 ถึง 42+280) ระยะทาง 15.230 กม.
ช่วงที่ 5 จากทางขึ้น-ลงแหลมฟ้าผ่า-ทางขึ้น-ลงสุขุมวิท เชื่อมต่อถนนสุขุมวิท (กม.42+280 ถึง 49+650) ระยะทาง 7.370 กม. มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 1 แห่ง
ช่วงที่ 6 จากทางขึ้น-ลงสุขุมวิท-ทางขึ้น-ลงแพรกษา-จุดสิ้นสุดโครงการที่ทางแยกต่างระดับเทพารักษ์ เชื่อมต่อถนนเทพารักษ์ (กม.49+650 ถึง 59+137) ระยะทาง 9.487 กม.
ส่วนช่วงที่ 7 เป็นถนนเชื่อมต่อ ทล.3268 กับ ทล.34 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยเริ่มจากจุดสิ้นสุดโครงการสะพานพระสมุทรเจดีย์ ที่ทางแยกต่างระดับเทพารักษ์ ไปสิ้นสุดที่โครงการถนนเชื่อมต่อถนนเทพารักษ์ถึงถนนบางนา-ตราด ระยะทาง 5.070 กม.