ไทยจับมือกลุ่ม A-GSPC เรียกร้องสหรัฐฯ เร่งพิจารณากฎหมายต่ออายุโครงการ GSP โดยเร็ว ย้ำ GSP ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ลดต้นทุนให้ผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ผู้บริโภคซื้อของได้ถูกลง และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับสิทธิ์จากโควิด-19 ย้ำผู้ประกอบการยังส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ตามปกติ แม้ตอนนี้ยังไม่ต่อ GSP
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่สหรัฐฯ ให้แก่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ซึ่งหมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการดำเนินขั้นตอนเพื่อผ่านร่างกฎหมายการต่ออายุโครงการ GSP ซึ่งในส่วนของการดำเนินการของไทย ได้ร่วมกับกลุ่ม Alliance for GSP Countries (A-GSPC) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่ได้รับสิทธิ์ GSP ที่ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 27 ประเทศ เช่น ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อาร์เจนตินา บราซิล คาซัคสถาน ศรีลังกา ยูเครน เป็นต้น ยื่นหนังสือขอให้รัฐสภาสหรัฐฯ เร่งพิจารณาร่างกฎหมายการต่ออายุโครงการ GSP โดยเร็ว
ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการ GSP ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ 1. ความสำคัญของโครงการ GSP ที่มีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประเทศผู้ได้รับสิทธิ์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย 2. โครงการ GSP ช่วยลดต้นทุนให้กลุ่มผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการในสหรัฐฯ ที่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าชั้นกลางมาใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและภาคบริการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ซื้อสินค้านำเข้าในราคาที่ถูกลงได้ และ 3. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การต่ออายุโครงการ GSP จะเป็นปัจจัยส่งเสริมและช่วยเหลือนโยบายภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นและฟื้นเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับสิทธิ์ GSP
สำหรับการต่ออายุโครงการ GSP ครั้งใหม่นี้ มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการให้สิทธิ์ GSP แก่ประเทศต่างๆ ให้สะท้อนประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เช่น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน รวมถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ หลักเกณฑ์มูลค่าการนำเข้า (Competitive Need Limit : CNL) กฎแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการ GSP สหรัฐฯ จะสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการไทยยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้ตามปกติ โดยผู้นำเข้าสหรัฐฯ ที่นำเข้าสินค้าที่เคยได้รับสิทธิ์ GSP จะต้องชำระภาษีในอัตราปกติ (MFN rate) ไปจนกว่าจะมีการต่ออายุโครงการ และเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ ผู้นำเข้าจะต้องแจ้งความประสงค์ในการขอใช้สิทธิ์ GSP ตามปกติ โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะทำการคืนภาษีที่ชำระไปหรือคืนหลักประกันการนำเข้าให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าภายใต้ GSP เมื่อโครงการได้รับการต่ออายุเรียบร้อยแล้ว