xs
xsm
sm
md
lg

สินค้าจ่อขยับราคายกแผง ผู้บริโภคเตรียมอ่วมรับปี 65 วัดใจรัฐ-พาณิชย์ลดต้นทุนเบรกขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์ราคาน้ำมันและปัจจัยการผลิตปรับตัวสูงขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเป็นอย่างมาก และตลอดปี 2564 ที่ผ่านมาภาครัฐได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ช่วยบริหารจัดการต้นทุน เพื่อตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ความร่วมมือก็มีจุดจบ ทำให้ในปี 2565 นี้จะเป็นปีแห่งการปรับขึ้นราคาสินค้า เว้นแต่ภาครัฐจะมีมาตรการเข้ามาช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการเพื่อแลกกับการชะลอการปรับราคาออกไป

ในช่วงปลายปี 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ทำการสำรวจผลกระทบต้นทุนการผลิตสินค้า พบว่าปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบต่อราคาสินค้ามาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลจากลิตรละ 20 กว่าบาทเมื่อช่วงต้นปี 2564 มาถึงสิ้นปีอยู่ที่ 30 บาท แต่รัฐได้ช่วยอุดหนุนจนราคาลงมาอยู่ที่ 28 บาทกว่า และยังจะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่จะเริ่มตั้งแต่รอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 ที่จะเป็นต้นทุนสำคัญเพิ่มเข้ามา
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังระบุว่า ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นภายใน 3-6 เดือนข้างหน้าอีก 10-20% ซึ่งหมายความว่าจะหนีการปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ เพราะหากไม่ปรับราคาสินค้า ก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ เนื่องจากได้มีการตรึงราคาสินค้ามายาวนานแล้ว
ขณะที่หอการค้าไทยก็มองในทิศทางเดียวกันกับ ส.อ.ท. โดยประเมินว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันนับจากนี้จนถึงช่วงครึ่งแรกปี 2565 คงไม่ได้เห็นราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ที่ 20-30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลอีก มีแต่จะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บวกลบ และมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า การขนส่ง และยิ่งค่าไฟฟ้าที่จะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี ก็ยิ่งกระทบต่อต้นทุนอย่างหนัก

เตือนผู้บริโภคทำใจสินค้าขึ้นแน่
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เคยกล่าวไว้ว่า ผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ต้นทุนสินค้า และค่าขนส่ง โดยเอกชนพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐเพื่อรักษาระดับราคาสินค้าที่จำหน่ายในปัจจุบันให้ได้นานที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าในอนาคตสินค้าจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นแน่นอน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการและมีรายได้
“ผู้บริโภคต้องทำใจ และเตรียมรับมือกับราคาสินค้าที่จะขยับขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก” นายสนั่นกล่าว
ทางด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ก็กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างมาก และมีสินค้าบางส่วนได้ขยับขึ้นราคาไปแล้ว หากราคาน้ำมันยังปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เอกชนอาจมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มเติมอีก

มีอีกหลายปัจจัยที่กระทบต่อต้นทุน
นอกเหนือจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และค่าไฟฟ้ากำลังจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 และต่อเนื่องตลอดปี 2565 ยังมีปัจจัยด้านต้นทุนอื่นๆ อีกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปได้ปรับตัวสูงขึ้นมาต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2564 เช่น ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และข้าวสาลี เป็นต้น หรือสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทั้งเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ที่ปรับตัวสูงต่อเนื่องเช่นกัน รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมอย่าง เหล็ก เหล็กทำกระป๋อง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปอีกหลายรายการ

เหล็ก-ปุ๋ยเคมีราคาขยับแล้วมีสิทธิ์ขยับอีก
ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาราคาเหล็กได้ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้ว จนกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง โครงการลงทุนต่างๆ โดยมีแนวโน้มที่ราคาจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล โดยเฉพาะรถไฟฟ้า และทางด่วนที่จะมีการประมูลมากขึ้น
ขณะที่ปุ๋ยเคมีได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในปี 2564 เป็นอย่างมาก แม้กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแลจัดหาปุ๋ยราคาถูกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็ลดต้นทุนได้ไม่มากนัก และยิ่งราคาน้ำมันตลาดโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทิศทางราคาปุ๋ยก็จะยังคงทรงตัวในระดับสูงเช่นกัน และแน่นอนว่า ผลกระทบจากราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น จะทำให้สินค้าเกษตรทั้งผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรอื่นๆ มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

น้ำมันปาล์ม-อาหารสัตว์ขึ้นยาว
สำหรับน้ำมันปาล์ม ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นมาต่อเนื่องตามต้นทุนราคาปาล์มดิบที่ขยับสูงถึงแตะระดับ 9 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) โดยราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มจากที่เคยขายขวดลิตรละ 44 บาท ขยับเพิ่มเป็น 49 บาท และบางช่วงอยู่ที่ 54-55 บาท และในพื้นที่ห่างไกลที่การขนส่งไม่สะดวกราคาขยับไปถึง 57-58 บาทก็มี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอาหารปรุงสำเร็จ และอาหารสำเร็จรูปที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ไม่ได้รับกระทบจากแค่น้ำมันปาล์ม แต่ยังได้รับผลกระทบจากแป้งสาลีที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย
ส่วนในปี 2565 ต้องดูว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันที่กำลังจะออกสู่ตลาดจะมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน หากมีปริมาณไม่มาก ราคาผลปาล์มดิบก็จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และมีผลต่อราคาน้ำมันปาล์มขวดต่อไป
ขณะที่อาหารสัตว์ มีแนวโน้มที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง แม้กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาช่วยเชื่อมโยงจับคู่การซื้อข้าวไปทำเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ แต่ก็ช่วยลดต้นทุนได้ไม่มากนัก เพราะต้นทุนส่วนอื่นยังคงเพิ่มขึ้น ทำให้อาหารสัตว์เป็นอีกตัวที่มีความเสี่ยงที่ราคาจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อปรับราคาเพิ่มขึ้น ก็จะกระทบต่อเนื่องถึงการเลี้ยงสัตว์ ทั้งสัตว์ปีก ไก่ ไข่ สุกร และสัตว์น้ำ ที่จะทำให้สินค้าต่อเนื่องเหล่านี้มีการขยับราคาเพิ่มขึ้นตาม
ล่าสุดปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว คือ ราคาหมูเนื้อแดงปรับตัวสูงขึ้นเป็น กก.ละ 160-180 บาท และบางพื้นที่ขยับขึ้นไปถึง 200 บาท และมีโอกาสที่จะยืนราคานี้ยาวๆ เพราะปัจจุบันหมูเข้าสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้น

ทินฟรี-ทินเพลตทำต้นทุนอาหารกระป๋องพุ่ง

ปัจจุบันวัตถุดิบสำหรับใช้ทำกระป๋องมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาเหล็กตลาดโลก และยังเจอต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นชุบหรือเคลือบด้วยโครเมียมทั้งชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน (ทินฟรี) และสินค้าเหล็กแผ่นชุบหรือเคลือบด้วยดีบุกทั้งชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน (ทินเพลต) ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ทำกระป๋องบรรจุอาหาร ในอัตราที่สูงขึ้น และแม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะยกเว้นไม่เรียกเก็บอากรเอดีเป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 ซึ่งจะครบกำหนดในเดือน พ.ค. 2565

ตอนนั้นการนำเข้าก็จะถูกเรียกเก็บอากรเอดีทันที คือ สินค้าทินฟรีที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน เก็บอัตรา 4.53-24.73% ของราคาซีไอเอฟจากเกาหลีใต้ 3.94-17.06% และจากยุโรป 18.52% โดยเรียกเก็บเป็นเวลา 5 ปี หรือจนถึงเดือน พ.ย. 2569 ส่วนทินเพลตจากจีนให้เก็บ 2.45-17.46% ของราคาซีไอเอฟจากเกาหลีใต้ 8.71-22.67% จากไต้หวัน 4.28-20.45% และยุโรป 5.82% โดยให้เรียกเก็บเป็นเวลา 5 ปี จนถึงเดือน พ.ย. 2569 หลังจากนั้นจะพิจารณาทบทวนใหม่ หากพบว่ายังมีการทุ่มตลาดอีกก็จะคงการเก็บอากรเอดีต่อไป
ช่วงเริ่มต้นปี 2565 อาหารกระป๋อง ทั้งปลากระป๋อง ผัก ผลไม้กระป๋อง นมกระป๋อง เครื่องดื่มกระป๋อง จะยังคงตรึงราคาต่อไปได้ แต่หลังพ้นเดือน พ.ย. 2565 ไปแล้วไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะไม่มีการปรับขึ้นราคา เพราะผู้ผลิตคงมีการปรับขึ้นราคาแน่ แต่ก็อาจจะมีสินค้ากระป๋องบางรายการที่จะมีการปรับขึ้นราคาก่อน เพราะต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆ ปรับสูงขึ้น โดยไม่ต้องรอต้นทุนจากทินฟรี ทินเพลต
รัฐจ่อใช้เอดีฟิล์มบีโอพีพีต้นทุนหนักอีก
นอกจากนั้น ภาคอุตสาหกรรมกำลังจับตาการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ที่คาดว่าจะมีการประชุมเพื่อชี้ขาดการเรียกเก็บอากรเอดีสินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอคเซียลลี ออเรียนเต็ดโพลิโพรพิลีน หรือฟิล์มบีโอพีพี ในเร็วๆ นี้
หลังจากที่ล่าสุดกรมการค้าต่างประเทศในฐานะฝ่ายเลขานุการ ทตอ.ได้พิจารณาอัตราอากรเบื้องต้นออกมาแล้ว สรุปจะเรียกเก็บจากจีน บริษัท Yunnan Hongta Plastic จำกัด อัตรา 5.49% ผู้ผลิตรายอื่น 32.80% อินโดนีเซีย บริษัท PT Argha Karya Prima Industry Tbk อัตรา 5.71% ผู้ผลิตรายอื่น 15.32% และมาเลเซีย บริษัท Scientex Great Wall SDN.BHD อัตรา 4.72% ผู้ผลิตรายอื่น 32.84%
ทั้งนี้ หากสุดท้ายมีการเคาะให้เก็บอากรเอดี จะทำให้ต้นทุนการผลิตบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นทันที และเมื่อต้นทุนบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ที่จะมีต้นทุนสูงขึ้น และอาจมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาตาม
สำหรับกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ลูกอม เบเกอรี อาหารแช่แข็ง อาหารแห้ง ไอศกรีม ซองเครื่องปรุงรสทั้งแบบแห้งและเหลว ฉลากบนขวดบรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่ม ซองบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง ซองบรรจุภัณฑ์ผงซักฟอก ถุงบรรจุภัณฑ์ยาและเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

ค่าขนส่งเริ่มขยับแล้ว
จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า แต่ยังทำให้ต้นทุนการขนส่งขยับขึ้น โดยปัจจุบันกลุ่มรถบรรทุกได้ขีดเส้นตายให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 25 บาท แต่รัฐบาลดูแลได้แค่ลิตรละ 28 บาท แต่ก็เป็น 28 บาท ที่ไม่เป๊ะๆ มีแต่ 28 บาทเกินๆ ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 30-40% จากช่วงต้นปี 2564 ที่ระดับราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่เฉลี่ยลิตรละ 21 บาท

ปัจจุบันผู้ประกอบการขนส่งหลายรายได้แจ้งการปรับขึ้นราคาค่าขนส่งสินค้าแล้ว ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 5% จากเดิม ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และคงหนีไม่พ้นที่ต้องปรับขึ้นราคาเพื่อชดเชยกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น

เปิดโพยสินค้าที่มีแนวโน้มปรับราคา

สำหรับแนวโน้มสินค้าที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นราคา กลุ่มสินค้าเกษตร ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่จะถูกนำไปใช้ผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่อง เช่น ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง แป้งสาลี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอาหารสัตว์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว และเนื้อสัตว์ กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เหล็ก เหล็กทำกระป๋อง พลาสติก เคมีภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอาหารกระป๋อง ปุ๋ยเคมี และกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ เช่น การใช้อากรเอดีทินฟรี ทินเพลต และฟิล์มบีโอพีพี ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงสินค้าอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งอุปโภคและบริโภค

“พาณิชย์” รับพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริง

ทั้งนี้ ในการพิจารณาให้ปรับขึ้นราคาหรือไม่ให้ปรับขึ้นราคาสินค้า นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน บอกว่า หากผู้ผลิตมีการยื่นขอปรับขึ้นราคาสินค้าเข้ามา กรมฯ จะพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริง อะไรที่เป็นต้นทุนผันแปร ที่ขึ้นลงหวือหวาในบางช่วง ไม่ได้ขึ้นแบบถาวร ก็จะขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตบริหารจัดการต้นทุน และไม่ปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ถ้าเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นจริง และขึ้นต่อเนื่อง ก็พร้อมที่จะพิจารณาให้ตามจริง และต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป โดยกรมฯ จะพยายามพูดคุยหารือกับผู้ผลิตเพื่อให้ชะลอการปรับขึ้นราคา หรือตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุดก่อน

วัดใจรัฐ-พาณิชย์ช่วยลดต้นทุน

การหลีกเลี่ยงการไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าในปี 2565 คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางออกเอาเสียเลย โดยทางออกมีอยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงพาณิชย์ จะทำหรือไม่

ในส่วนของภาครัฐ จะต้องดูแลราคาน้ำมัน ที่ต้องดูแลจริงๆ ไม่ใช่แค่ดูแลแบบห่างๆ แบบห่วงๆ เหมือนที่ทำมาก่อนหน้านี้ ที่บอกจะตรึงดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 28 บาท แต่เอาเข้าจริง ราคา 28 บาทกว่าไปจนเกือบจะ 29 บาท ส่วนค่าไฟฟ้า ที่จะปรับเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี 2565 ก็ต้องพิจารณาว่าจะชะลอหรือไม่ปรับขึ้นตามแผนได้หรือไม่ เพราะขึ้นมากเท่าไร ผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าก็มากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนอีกเรื่องที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแล คือ ภาษีความเค็ม ซึ่งหากจะเก็บก็ต้องเก็บในอัตราที่เหมาะสม เพราะมิฉะนั้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญสูงถึง 6 กลุ่ม ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จแบบ Shelf Stable ปลากระป๋อง และขนมขบเคี้ยว

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ต้องอำนวยความสะดวกทางการค้า หาทางช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการมากที่สุด อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการผลิต การค้า ก็ต้องแก้ไข อะไรที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์โดยตรง ทำได้ ก็ทำเลย อะไรที่ไปเกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่นๆ ประสานได้ ก็เร่งประสานเพื่อดำเนินการแก้ไข หรืออะไรที่อยู่ในอำนาจ อยู่ในกฎหมายที่ดูแลอยู่ งดได้ เว้นได้ ก็เว้นไป

ยกตัวอย่างปัญหาใหญ่ที่รอวันระเบิดอย่างการพิจารณาเพื่อเรียกเก็บอากรเอดีฟิล์มบีโอพีพี ที่เป็นต้นทุนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าหลากหลายชนิดตามที่กล่าวมาแล้ว ตัดสินออกมาเมื่อไร ระเบิดก็จะทำงานเมื่อนั้น สินค้าบางรายการที่ผู้ผลิตพยายามที่จะบริหารจัดการต้นทุนให้ได้ เพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาให้ยาวนานที่สุด ก็คงถึงเวลาที่จะต้องมาทบทวนกันใหม่ เพราะบางสินค้า ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ก็ปาเข้าไป 10-20% ของต้นทุนทั้งหมด ถ้าถึงจุดนี้ขึ้น คงไม่สามารถที่จะหยุดการปรับขึ้นราคาได้

ถึงเวลาวัดใจรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ชื่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผู้ที่ชี้เป็นชี้ตายว่า สินค้าจะชะลอการปรับขึ้นราคา หรือว่าจะดาหน้าขึ้นราคากันยกแผง


กำลังโหลดความคิดเห็น