“ศักดิ์สยาม” เร่งแผนขยาย "สุวรรณภูมิ" เตรียมรับการบินฟื้น เสนอ "อนุทิน" ม.ค.เคาะสร้างอาคารด้านตะวันออกก่อน เร่งชง ครม.เปิดประมูล ส่วนอาคารด้านเหนือรอ ICAO สรุปผลศึกษาก่อนค่อยหารือ สศช.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า จากที่ได้ให้บริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไปดำเนินการศึกษาทบทวนข้อมูลร่วมกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) หรือไออาตา และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) นั้น ล่าสุดทางไออาตาได้สรุปผลการศึกษาเรียบร้อยแล้ว ยังเหลือการศึกษาของ ICAO ที่คาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ เพื่อเดินหน้าการพัฒนาฯ สนามบินสุวรรณภูมิไม่ให้ล่าช้า จะนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะประชุมในเดือน ม.ค. 2565 พิจารณาการพัฒนาขยายขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักหลังที่ 1 ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ก่อนเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
ในส่วนของการขยายอาคารด้านทิศตะวันออกนั้นได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์แล้ว ถือว่ามีความพร้อมในการดำเนินการได้ทันที ส่วนโครงการต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) นั้น ให้ ทอท.หารือร่วมกับ สศช. ประกอบกับสรุปการศึกษาของ ICAO ด้วย
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า สนามบินสุวรรณภูมิต้องมีการขยายขีดความสามารถเพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารและเที่ยวบิน ซึ่งไออาตาได้คาดการณ์ว่าปี ค.ศ. 2031 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ผู้โดยสารของประเทศไทยจะกลับมาเป็น 200 ล้านคน/ปี และไทยจะอยู่ที่อันดับ 9 ของโลก ดังนั้นจะต้องเตรียมทำ Action Plan การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรันเวย์ อาคารผู้โดยสาร เตรียมพร้อมในการให้บริการที่สะดวกที่สุด
ก่อนหน้านี้ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ระบุว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ได้เห็นชอบผลการศึกษาการเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไออาตา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 โดยไออาตาสรุปว่า แนวทางที่ดีที่สุดคือก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) อย่างเดียว โดยใช้แบบผสมทั้งบริการผู้โดยสารภายในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศ
ทางเลือกลำดับที่ 2 คือก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนืออย่างเดียว และให้บริการเฉพาะผู้โดยสารภายในประเทศและทางเลือกลำดับที่ 3 ก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ และก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักหลังที่ 1 ด้านทิศตะวันออก (East Expansion)
ส่วนทางเลือกลำดับที่ 4 ก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ และก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักหลังที่ 1 ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) และส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion)
สำหรับตามแผนพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) นั้น ใช้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศพื้นที่ 66,000 ตร.ม. รับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี พื้นที่เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน วงเงินงบประมาณ 7,830 ล้านบาท