xs
xsm
sm
md
lg

เวทีเสวนา "หัวลำโพง" เดือด! ค้านหยุดเดินรถ "ประภัสร์" ขอให้พูดความจริง "ศรีสุวรรณ" ฟ้องแน่หาก รฟท.ขอปรับผังสี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เวทีเสวนา "หัวลำโพง" ดุเดือด “คมนาคม” ย้ำไม่เคยพูดปิดหรือทุบ ด้าน "ประภัสร์"  ขอให้พูดความจริง นักวิชาการสับแบบตึกสูงข่มโดมสถานีที่ต้องอนุรักษ์ ชี้พัฒนาต้องยึดผลประโยชน์ประชาชนมากกว่านายทุน “ศรีสุวรรณ” ฟ้องแน่หาก รฟท.ขอปรับเป็นผังสีแดง

วันที่ 14 ธ.ค. 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในหัวข้อ "อนาคตสถานีหัวลำโพงประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา" โดยมีผู้ร่วมเสวนามาจากหลายภาคส่วนทั้งผู้แทนกระทรวงคมนาคม รฟท. นักวิชาการ ภาคประชาสังคม โดยนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ทั้งหมด 7 ครั้ง ไม่เคยมีการประชุมครั้งไหนที่ รมว.คมนาคมสั่งให้ปิดหัวลำโพง ขณะที่การศึกษาในทุกแนวทางการเดินรถรวมถึงกรณีปิดการเดินรถที่หัวลำโพง ซึ่งพบว่าจะมีประชาชนได้รับผลกระทบประมาณหมื่นกว่าคน ดังนั้นจึงจะไม่ทำในสิ่งที่ประชาชนเดือดร้อน ทั้งหมดเป็นเพียงการลดบทบาทของศูนย์กลางระบบรางจากที่สถานีหัวลำโพงมาที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้การบริหารจัดการเดินรถที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสถานีกลางบางซื่อจะเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้า 3 สาย และมีการปรับเส้นทางรถเมล์ เพื่อให้เชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้ง 13 สถานี ประมาณ 80 เส้นทาง โดยวิ่งเข้าสถานีกลางบางซื่อ 15 เส้นทาง เพื่อทำให้การเดินทางเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ

โดยคณะกรรมการฯ เตรียมเปิดสถานีกลางบางซื่อและสายสีแดงที่มีรมว.คมนาคมเป็นประธาน ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ชุด เพื่อเตรียมการเปิดให้บริการในด้านต่างๆ เพื่อบูรณาการในการเปลี่ยนผ่านต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สำหรับรถไฟชานเมืองนั้นมีความสำคัญ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน ที่ประชุมจึงมีมติที่ยังคงการเดินรถไฟชานเมืองเข้าสถานีหัวลำโพง 22 ขบวนไว้ก่อน

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า เรื่องข่าวทุบหัวลำโพง ยืนยันไม่จริงเป็นเฟกนิวส์ ส่วนประเด็นปิดหัวลำโพงไม่จริง เพราะยังคงมีรถไฟวิ่งเข้าอยู่ แต่จะมีการลดบทบาทเพราะมีการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ โดยปัจจุบันมีขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง 118 ขบวน โดยตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 64 จะปรับลดเหลือ 22 ขบวน แบ่งเป็น สายเหนือ/ตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 6 ขบวน, สายใต้ 2 ขบวน และสายตะวันออก 14 ขบวน สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้นอยู่ในแผนแม่บทมาเป็น 20 ปีแล้ว ซึ่งมีเหตุผลส่วนหนึ่งคือ จะช่วยลดจุดตัดใน กทม. 27 จุด และลดจำนวนการปิดกั้นถนนได้จากวันละ 826 ครั้ง/วัน เหลือ 112 ครั้ง หรือลดลง 86% เนื่องจากยังคง 22 ขบวนเข้าหัวลำโพง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจราจรได้ ส่วนหัวลำโพงจะถูกลดบทบาทลงและในอนาคตจะมีขบวนรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายเข้าหัวลำโพง ซึ่งจะก่อสร้างในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

“รถไฟ 22 ขบวน มีผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบประมาณ 7,000 เที่ยวคนต่อวัน (ไป-กลับ) คิดเป็น 0.018% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เดินทางในกรุงเทพฯ ทั้งหมดประมาณ 34 ล้านเที่ยวคนต่อวัน ซึ่งหลังเกิดโควิดเหลือประมาณ 20 ล้านเที่ยวคน  แต่กระทรวงคมนาคมก็ยังแคร์อยู่”

นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด กล่าวว่า เอสอาร์ทีแอสเสท ตั้งเป็นบริษัทลูก รฟท.ตามมติ ครม. มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ รฟท.ถือหุ้น 100% มีหน้าที่บริหารทรัพย์สินรถไฟ ในส่วนของที่ดิน แนวคิดการพัฒนาพื้นที่สถานีในรูปแบบ TOD โดยเน้นพื้นที่สีเขียว มีโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาผสมผสานหรือมิกซ์ยูส เน้นการเดินเท้า และใช้พลังงานสะอาด และเป็นพื้นที่สีเขียว สำหรับการพัฒนาสถานีหัวลำโพง จะมีความพิเศษเพราะเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ และไม่มีการรื้อหรือทุบสถานี โดยจะลดบทบาทและปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ 120 ไร่ ซึ่งมีสถาปัตยกรรม 5 จุดที่ต้องอนุรักษ์ไว้ ได้แก่

1. อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร ด้านหน้า ซึ่งเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของการเดินรถไฟ 2. อาคารสถานีหัวลำโพง อายุ 105 ปี 3. อนุสรณ์ปฐมฤกษ์ เป็นจุดที่รัชกาลที่ ๕ ทรงปักหมุดรางรถไฟ 4. ตึกบัญชาการ ที่ทำการ รฟท. และ 5. ตึกแดง โดยจะอนุรักษ์และหาแนวทางพัฒนา โดยจะมีพื้นที่เหลือพัฒนาประมาณ 90 ไร่ ซึ่งหากไม่พัฒนามีแนวโน้มพื้นที่จะเสื่อมโทรม และมีผู้บุกรุกเข้ามา

นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า เรื่องนี้สำคัญและผู้ว่าฯ รฟท.ต้องออกมาชี้แจงเอง ไม่ใช่ส่งผู้ช่วยฯ มาชี้แจง อย่าหลบหน้าสื่อ อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาพูดความจริง การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญหมดยุคทำอะไรปิดบังแล้ว วันนี้เราไม่ควรมานั่งกันตรงนี้หากชี้แจงให้ชัดเจนตั้งแต่แรก ภาพที่ออกมาเอาหัวลำโพงมาด้อยค่าเป็นประตูทางเข้าอาณาจักรขายของราคาแพง แบรนด์เนม

ส่วนเรื่องสถานีกลางบางซื่อ สมัยผมเป็นผู้ว่าฯ แนวคิดหัวลำโพงต้องมีรถไฟวิ่งเข้าไป และจะหยุดเดินรถได้ต่อเมื่อมีสายสีแดงวิ่งเข้าไป แต่วันนี้จะให้หยุดเดินก่อน อ้างว่าสถานีบางซื่อเสร็จแล้ว แต่ประชาชนเดือดร้อน เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขณะที่เศรษฐกิจปัจจุบันแย่แล้วยังทำให้ประชาชนเดือดร้อน ผมไม่เห็นด้วยกับหยุดรถไฟทางไกลเข้าหัวลำโพง ขอให้กระทรวงฯ พิจารณาให้ดี และอย่าโทษว่ารถไฟทำให้รถติด อย่าลืมว่ารถไฟมีมาก่อนถนน ไม่มีประเทศใดในโลกที่ให้ถนนมาตัดกับรถไฟ เพราะต้องทำสะพานข้าม หรืออุโมงค์ลอด มีแต่ประเทศไทยเท่านั้น และไม่ใช่ว่าพอไม่มีรถไฟวิ่งแล้วรถจะไม่ติดตามที่กรมรางบอกแน่นอน อย่าหาว่าผมสอนกรมรางเลย เห็นใจประชาชนสักนิด

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. กล่าวว่า รถไฟเป็นระบบรางที่มีความสะดวก และเข้าหัวลำโพง การเลิกเดินรถเข้าหัวลำโพงประชาชนกระทบมาก และยังกระทบไปถึงแท็กซี่ สามล้อ ประชาชนที่ค้าขายในพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งตามกฎหมาย การลดขบวนหรือหยุดเดินรถ ตามกฎหมายระบุชัดเจนว่าต้องมีพระบรมราชโองการเท่านั้นจึงจะทำได้ ขอส่งเสียงไปยัง รมว.คมนาคมด้วยว่า การลดขบวนรถไฟเข้าหัวลำโพงอาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะทราบมาว่าขณะนี้ รฟท.หยุดจำหน่ายตั๋วโดยสารตจากหัวเมืองเข้าสู่สถานีหัวลำโพงแล้ว หากเป็นเรื่องจริงจะเป็นเรื่องใหญ่ที่เราไม่ยอม เพราะทำอะไรควรฟังเสียงประชาชน และสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนก่อน

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า "หาก รฟท.จะเปลี่ยนสีผังเมืองสถานีหัวลำโพงจากสีน้ำเงินซึ่งเป็นที่ดินหน่วยงานราชการไม่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ให้เป็นสีแดงที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างน้อยต้องผ่านด่านผมก่อน ซึ่งผมฟ้องศาลปกครองแน่นอน"

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจ รฟท. กล่าวว่า วันนี้ไม่จำเป็นต้องฟังความเห็นแล้ว เพราะทุกสื่อ กระแสสังคมไม่เห็นด้วยกับการปิดหัวลำโพง ส่วนที่บอกว่าสังคมเข้าใจผิด คงไม่ถูกต้องเพราะสื่อคงไม่กุข่าวเอง

สำหรับรถไฟ มีขบวนการที่แสวงหาผลประโยชน์ทุกยุค ขณะที่หน้าที่รถไฟคือบริการประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เพราะเก็บค่าโดยสารถูก ส่วนเลิกวิ่งรถไฟเข้าหัวลำโพงเพราะแก้รถติดได้ ก็เป็นตรรกะที่ผิดมาก บอกให้หยุดลงที่บางซื่อ ให้คนลงและมาต่อฟีดเดอร์ รถยนต์อีก ตกลงจะแก้รถติดอย่างไร

ซึ่งวันนี้ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมเสนอรายชื่อคัดค้านเกือบ 3 หมื่นรายชื่อ ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้พิจารณากรณีหยุดให้บริการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง และหากสุดท้ายกระทรวงคมนาคมยังคงทำตามเดิมก็ถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ของคนทั้งประเทศ ที่สูญเสียคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้กลุ่มทุน แม้วันนี้จะไม่รู้ว่าเป็นใครแต่ รฟท.ไม่มีทางทำเองได้เพราะ รฟท.ไม่เชี่ยวชาญ เรื่องพัฒนาที่ดินสหภาพฯ เสนอให้ตั้งบริษัทลูกขึ้น แต่หากตั้งมาแล้วมาปิดหัวลำโพง ก็ไม่ควรมีบริษัทนี้ เพราะผิดวัตถุประสงค์ในการตั้งบริษัทลูก

ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าวว่า ภาครัฐควรทำงานโดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ซึ่งเห็นด้วยกับการออกแบบสถานีกลางบางซื่อใหญ่รองรับได้มาก รวมถึงการพัฒนาหารายได้ แต่รูปแบบจะทำอย่างไรที่จะเกิดประสิทธิภาพจริง ใครที่จะได้ประโยชน์กับสิ่งนี้ จากการสื่อสาร ภาพตึกที่ขึ้นสูงด้านหลังหัวลำโพง ภาพนี้ไม่รู้ว่าทีมไหนนำเสนอ แต่ในแง่ที่เป็นอาจารย์ด้านนี้นักศึกษาที่ทำแบบนี้จะให้สอบตก เพราะตึกนั้นข่มหัวลำโพง ไม่รู้คนออกแบบทำภาพวางยา รฟท.หรือไม่

ในฐานะนักวิชาการ การพัฒนาหัวลำโพง มีร้านแบรนด์เนม เป็นห้าง ถามว่าวันนี้ยังมีห้างไม่พออีกหรือ ดังนั้นต้องพูดให้ชัด ว่าประชาชนได้อะไร คนในพื้นที่รอบๆ ได้อะไรจากการพัฒนา เมื่อพัฒนาแล้ว รถไฟมีเงินเข้ามา บริการจะดีขึ้นอย่างไร

ขณะที่ความเห็นของประชาชนผ่านทางเฟซบุ๊กมีเกือบ 500 ความเห็น เช่น “คนที่มาเสวนาอะ......นึกถึงปากท้องประชาชนให้มากกว่าเก้าอี้ของตัวเองไม่ใช่นายสั่งอะไร ก็ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน ดูตัวอย่างตอนย้ายไปสุวรรณภูมิ แล้วก็อย่ามาพูดว่ามีมาตรการเยียวยาเพราะมันแค่ชั่วคราว และไอ้ที่แหกปากว่ารถไฟทำให้การจราจรติดขัด เลิกคิดซะนะ”

“อีก 9 วัน จะมีรถเข้าหัวลำโพงเหลือเพียง 22 ขบวนแล้ว แต่ขณะนี้กลับยังไม่ชัดเจนว่ามีขบวนใดบ้าง และจะมายกเลิกเร่งรีบการเดินรถไปเพื่ออะไร”

“เดิน 22 ขบวน แล้วเดินรถยังไง สถานีที่แจ้งปิด 5 สถานีคืออะไร ที่ประกาศออกมา ????”

“ทำให้เกิดความวุ่นวาย และเป็นภาระของประชาชนมาก ซึ่งจากที่โทร.ไปสอบถามทางคอลเซ็นเตอร์ของ รฟท. 1690 เมื่อสอบถามเรื่องนี้ได้คำตอบว่า ยังไม่มีข้อมูล จึงอยากถามว่า รฟท.มีความพร้อมมากแค่ไหน และการจัดเวทีครั้งนี้เป็นเพียงพิธีกรรมหรือไม่ เพราะยังคงเดินหน้าแผนปรับลดขบวนรถไฟเข้าหัวลำโพงเหมือนเดิม”




กำลังโหลดความคิดเห็น