กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่เรียกกันติดปากว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยย้ายการเดินรถทุกขบวนไปยังสถานีกลางบางซื่อ ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
ประเด็นการย้ายสถานีหัวลำโพงไปสถานีกลางบางซื่อไม่ใช่เรื่องใหม่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วางแผนกันมานานแล้ว แต่รอให้เปิดใช้สถานีกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการก่อน
ตามรายงานข่าวระบุว่า ทีแรกการรถไฟฯ เสนอลดจำนวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง จากนับร้อยขบวนให้เหลือเพียง 22 ขบวนต่อวัน หลังจากนั้นจะทยอยปรับให้ขบวนรถไปใช้สถานีกลางบางซื่อ ถึงปี 2570 จะไม่มีขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพงอีก
ขบวนรถชานเมือง 22 ขบวน ส่วนมากจะมาจากลพบุรี (สายเหนือ) ชุมทางแก่งคอย (สายอีสาน) ชุมทางบ้านภาชี ชุมทางหนองปลาดุก (สายใต้) กับรถไฟสายตะวันออก จากด่านพรมแดนบ้านคลองลึก และบ้านพลูตาหลวง ที่มีวันละ 1 ขบวน
แต่ทีนี้ พอการรถไฟฯ เสนอแผนให้รัฐมนตรีศักดิ์สยาม ปรากฏว่าเจ้าตัวไม่เห็นด้วย เคาะมาเลยว่าขอให้สิ้นปีนี้รถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง “ต้องเป็นศูนย์” อนุญาตให้เฉพาะรถไฟที่เข้ามายังโรงซ่อม มาเติมน้ำมัน 4 ทุ่มถึงตี 4 เท่านั้น
เปรียบเทียบ “สนามบินสุวรรณภูมิ” อยู่ไกลถึงสมุทรปราการ ผู้โดยสารยังไปได้ หากบางขบวนต้องจอดรอบนอก ก็ต้องไปหาระบบฟีดเดอร์ เช่น รถเมล์ ขสมก. มารับส่งผู้โดยสารแทน
และเห็นว่าการรถไฟฯ ต้องนำผลกระทบมาชั่งน้ำหนัก หากมีประโยชน์มากกว่า ก็ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่เช่นนั้นก็จะตอบคำถามกับสังคมไม่ได้ว่า สร้างบางซื่อใหญ่โตไว้ทำไม?
ล่าสุด รัฐมนตรีศักดิ์สยาม ระบุว่า การหยุดให้บริการที่หัวลำโพงต้องทำให้ชัดเจน การรถไฟฯ ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดภายในปีนี้ (2564) เพราะไม่ต้องการให้ปิดถนนรอรถไฟวิ่งผ่านอีกต่อไป และจะได้เดินหน้าพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงได้
“หากยังไม่กล้าทำให้ชัดเจน มัวแต่กังวลคนใช้บริการเยอะ ไม่หยุดเสียที ทุกอย่างก็เดินต่อไม่ได้ ผมกล้ายอมรับถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะสุดท้ายคนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์มหาศาล ดังนั้นต้องกล้าที่จะทำ”
จากข้อมูลของทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า จะมีการย้ายให้รถไฟทุกขบวนปรับเส้นทางให้สิ้นสุดจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีปลายทางที่สถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2564
ส่วนสถานีรถไฟหัวลำโพง จะยังคงอนุรักษ์อาคารเอาไว้ แต่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง โดยพื้นที่บางส่วนซึ่งปัจจุบันคือโรงซ่อมรถไฟ และพวงราง จะพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ
พอได้ข่าวมาอย่างนี้ ก็เรียกเสียงวิจารณ์ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะคนที่ใช้บริการรถไฟเป็นประจำ ต่างออกมาไม่เห็นด้วย โดยชี้ว่าเป็นการผลักภาระให้ประชาชน ต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มมากขึ้น
สอดรับกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านนโยบายหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เหตุผลก็คือ ประชาชนที่ใช้บริการไป-กลับจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน
ถ้า รมว.คมนาคม เห็นว่าจำเป็นต้องปิดสถานีหัวลำโพงและหยุดให้บริการจริงๆ ควรสอบถามความเห็นประชาชนผู้ใช้บริการก่อนจะดีกว่าหรือไม่ ส่วนเหตุผลที่ว่าแก้ปัญหาจราจรติดขัดตามจุดตัดทางรถไฟนั้นไม่เป็นความจริง
ประการต่อมาก็คือ การนำที่ดินหัวลำโพง 120 ไร่ ที่ใช้สำหรับการเดินรถ มาพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อชดเชยการขาดทุน อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่การรถไฟฯ ยังมีที่ดินว่างเปล่าอีกหลายแปลงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การปิดสถานีรถไฟ จะทำลายประวัติศาสตร์กิจการรถไฟสยาม ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ให้เลือนหายไป กลายเป็นการนำที่ดินหัวลำโพงไปให้นายทุนเช่าเพื่อหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพการรถไฟฯ กล่าวในการเสวนาออนไลน์ “เมื่อหัวลำโพงไม่มีรถไฟ จะไปต่อยังไงกันดี” ระบุว่า ยังมีที่ดินการรถไฟฯ อีกหลายพื้นที่ ที่มีความพร้อมในการพัฒนาเชิงพาณิชย์
ส่วนการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง เป็นการตั้งตุ๊กตาขึ้นมา ทั้งที่ผังเมืองเป็นผังสีน้ำเงิน (หน่วยงานราชการ) ไม่เปลี่ยนแปลง ตามเงื่อนไขก็คือ ต้องเปลี่ยนผังเมืองจากสีน้ำเงินเป็นสีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม) ก่อน
ทางสหภาพฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าสถานีรถไฟหัวลำโพงยังมีรถไฟเดินรถอยู่ การเปลี่ยนแปลงผังเมืองทำไม่ได้ จึงอาจเป็นการเร่งรีบไม่ให้เดินรถ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงผังเมือง
ในปี 2562 สถานีรถไฟหัวลำโพงมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟชานเมือง 6.7 ล้านคนต่อปี ในปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 ระบาด จึงลดลงประมาณ 4.7 ล้านคน และในปี 2564 ที่เพิ่งเปิดการเดินรถได้ 3-4 เดือน อยู่ที่ 2.6 ล้านคน
ทางสหภาพฯ ได้สอบถามความเห็นประชาชนถึงเรื่องดังกล่าว พบว่าหากหยุดการเดินรถจริง จะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อย่างต่อมาคือการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบฟีดเดอร์ ผู้โดยสารนับพันคนจะต้องใช้รถเมล์กี่คัน จึงมองว่า เป็นเรื่องย้อนแย้ง ที่บอกว่ายุบหัวลำโพงเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร แต่เป็นการเพิ่มรถเมล์บนท้องถนนอีก
อีกปัญหาหนึ่งที่ทางสหภาพฯ เป็นห่วง คือการบุกรุกที่ดินรถไฟฯ จะเกิดขึ้นตามมา เฉกเช่นทางรถไฟจากสถานีชุมทางหาดใหญ่-สงขลา จึงเห็นว่ายังมีที่ดินอีกหลายแปลงที่พัฒนาได้ โดยไม่จำเป็นต้องลดบทบาทสถานีรถไฟหัวลำโพง
ย้อนกลับไปในอดีต สถานีรถไฟกรุงเทพ เริ่มก่อสร้างในปี 2453 แล้วเสร็จในปี 2459 ลักษณะเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียน ผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซอง คล้ายกับสถานีรถไฟกลางแฟรงค์เฟิร์ต เยอรมนี
อีกทั้งวัสดุในการก่อสร้าง ก็เป็นวัสดุสำเร็จรูปจากเยอรมนี มีกระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ซึ่งเป็นเครื่องบอกเวลามาถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันสถานีรถไฟกรุงเทพ เป็นต้นทางรถไฟสายเหนือ สายอีสาน สายตะวันออก และสายใต้ โดยมีขบวนรถบริการเชิงสังคม ทั้งรถธรรมดา รถชานเมือง ไปถึงขบวนรถบริการเชิงพาณิชย์ ทั้งรถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษ
นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อการเดินทางกับขนส่งมวลชนระบบอื่น เช่น รถเมล์เข้ามารับ-ส่งผู้โดยสารประมาณ 7 เส้นทาง หรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) สถานีหัวลำโพง มีทางเชื่อมไปยังหน้าสถานีโดยตรง
อันที่จริงสถานีรถไฟหัวลำโพง ตามแผนจะอยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงสถานีกลางบางซื่อลงมา ก่อนที่จะเป็นทางรถไฟสายใหม่ ไปยังคลองสาน บางบอน มหาชัย เชื่อมไปยังสถานีปากท่อ
ช่วงตั้งแต่สถานีกลางบางซื่อลงมา จะใช้โครงสร้างร่วมกัน 3 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง, รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-หัวหมาก และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (รวมแอร์พอร์ตเรลลิงก์)
แนวเส้นทางช่วงดังกล่าวออกแบบมาในลักษณะ คลองแห้ง เพราะติดปัญหาจุดตัดทางรถไฟมากกว่า 10 จุด และเขตพระราชฐาน (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน) แต่การก่อสร้างไม่ง่าย เพราะติดอุโมงค์ยักษ์ของ กทม. และท่อส่งน้ำมัน
เนื่องจากคลองแห้งช่วงดังกล่าว ใช้โครงสร้างร่วมกัน 3 โครงการ มีความเป็นไปได้ว่าจะให้กลุ่ม ซี.พี. ก่อสร้างคลองแห้งช่วงบางซื่อ-พญาไทไปก่อน แล้วถ้ารถไฟฟ้าสายสีแดงเริ่มเมื่อไหร่ค่อยมาเชื่อมต่อ อาจจะจ่ายชดเชยให้อีกที
ความเห็นส่วนตัว การย้ายต้นทางจากสถานีรถไฟหัวลำโพง มายังสถานีกลางบางซื่อ เป็นเรื่องที่ทำได้ หากมีรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงเปิดให้บริการเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ย้ายกันตอนที่ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
ส่วนปัญหาค่าโดยสารแพงเกินไป รัฐยังสามารถช่วยเหลือประชาชน ออกค่าโดยสารอัตราพิเศษได้ และคิดว่าค่าโดยสารช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงแบบทางตรง ไม่น่าจะสูงกว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่อ้อมไปทางรัชดาภิเษก คลองเตย
ถ้าจะย้ายสถานีกันแบบนี้ ต้องประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าอย่างทั่วถึง ติดประกาศตัวหนังสือโตๆ ทุกสถานีทั่วประเทศ ล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน 1 ปี ให้ประชาชนปรับพฤติกรรม ไม่ใช่มา “หักดิบ” โดยอ้างว่ารอไม่ได้
คนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่รัฐมนตรี แต่เป็นประชาชนนับล้านคนทั่วประเทศ ที่ใช้บริการรถไฟตัวจริง