สหภาพฯ รฟท.ผนึกประชาชน “SAVE หัวลำโพง” จ่อยื่น “นายกฯ” คัดค้าน “ประภัสร์” ยันต้องมีรถไฟทางไกลเข้าเหมือนเดิม อ้างแก้รถติดผิดหลักสากลต้องให้ระบบรางขนส่งมวลชนได้สิทธิ์ก่อน สงสัยเร่งรีบเคลียร์ที่ดินให้ใคร เตือน “ผู้ว่าฯ รฟท.” เป็นลูกจ้าง รฟท.ต้องทำงานเพื่อองค์กร
วันที่ 7 ธ.ค. 2564 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้จัดกิจกรรม “SAVE หัวลำโพง” ณ สถานีหัวลำโพง พร้อมจัดเวทีเสวนา “ปิดหัวลำโพง เพื่อการพัฒนา หรือผลักภาระให้ประชาชน” โดยพนักงาน รฟท. ประชาชน พร้อมด้วย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษา สร.รฟท., นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการ รฟท., นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสภา กทม., นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร และ ผศ.ปริญญา ชูแก้ว อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมและการวางแผน สถาบัน เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมเสวนา
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสหภาพฯ รฟท. เปิดเผยว่า หัวลำโพงเป็นสถานีรถไฟประวัติศาสตร์ และเป็นที่พึ่งของประชาชน หากปิดสถานีหัวลำโพงประชาชนได้รับความเดือดร้อนแน่นอน ที่ผ่านมาทางสหภาพฯ ได้มีการรวบรวมรายชื่อและพบปะประชาชนผ่านระบบออนไลน์ โดยจะรวบรวมความเห็นของประชาชนสรุปเสนอนายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้หยุดนโยบายปิดสถานีหัวลำโพง
ต้องบอกว่าการเปิดสถานีกลางบางซื่อแล้วไม่จำเป็นต้องปิดบริการที่สถานีหัวลำโพง และกรณีที่รมว.คมนาคมบอกว่า รฟท.เป็นหนี้ 6 แสนล้านบาทเป็นหนี้ในอนาคตที่ไม่มีจริง ปัจจุบันรัฐบาลค้างจ่ายหนี้ให้ รฟท. 2.4 แสนล้านบาท ส่วนการพัฒนาที่ดินรถไฟนั้นมีอีกหลายแห่งที่พัฒนาได้ ไม่มีเหตุผลที่ต้องเร่งพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง ซึ่งรอบหัวลำโพงมีแหล่งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่สามารถดำเนินการไปได้ควบคู่กับสถานีรถไฟ
ทั้งนี้ สหภาพฯ รฟท.มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง 3 ข้อ คือ 1. คงการให้บริการเดินรถไฟรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ต่อไป โดยให้มีขบวนรถไฟชานเมืองทุกสาย และรถบริการเชิงสังคม (PSO) ทางไกล อย่างน้อยเส้นทางละ 1 ขบวน มีต้นทาง-ปลายทางที่สถานีหัวลำโพง เพื่อเป็นบริการขนส่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐที่รองรับประชาชนจำนวนมากจากทั่วทุกส่วนภูมิภาคเข้ามาสู่ กทม. รวมทั้งใช้ในการเดินขบวนรถพิเศษเนื่องในโอกาสต่างๆ ที่สำคัญของประเทศ และของ รฟท. เนื่องจากเป็นพื้นที่อันควรค่ายิ่งแก่การอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ส่วนที่สถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นต้นทาง-ปลายทางของขบวนรถเชิงพาณิชย์และขบวนอื่นๆ ที่จะมีต่อไปในอนาคต
2. การแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ กทม. รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการขนส่งทางรางเป็นระบบหลักอย่างสมบูรณ์เต็มระบบ เช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วที่ใช้ระบบรางแก้ปัญหาจราจรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนจุดตัดถนนให้แก้ไขโดยทำทางยกระดับหรืออุโมงค์ และเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายให้เต็มรูปแบบ
3. การพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์เพื่อชดเชยผลการดำเนินงานที่ขาดทุน ให้พัฒนาพื้นที่ที่มีความพร้อม เช่น ย่านพหลโยธิน บางซื่อ จตุจักร รัชดาภิเษก สถานีแม่น้ำ หรือพื้นที่อื่นๆ ในต่างจังหวัด
@“ประภัสร์” ชี้ที่ดินรถไฟมีทั่วประเทศ ทำไมต้อง “หัวลำโพง” แลกประวัติศาสตร์กับเศษเงิน
นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นหน้าแรกของประวัติศาสตร์ระบบรางของประเทศไทย เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงริเริ่มเพื่อประชาชนคนไทย และทำให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของบูรพกษัตริย์ ซึ่งรัฐบาลเองพยายามพูดเสมอว่า ทำไมวันนี้เด็กสมัยใหม่ไม่รู้จักบุญคุณ ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ ไม่รู้จักอะไรเลย แต่รัฐบาลเองที่จะทำลายสิ่งที่บูรพกษัตริย์ ได้ทรงสร้างไว้พระราชทานแก่คนไทยทั้งประเทศ ไม่เข้าใจว่าทำเพื่ออะไร หรือทำเพื่อเศษเงิน ต้องถามกันตรงๆ ว่าการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงที่อ้างว่าจะได้เป็นแสนล้านบาท แต่ถามว่าใครได้ หากไปดูการให้เช่าที่ดินรถไฟบริเวณลาดพร้าว หัวหิน รถไฟได้เงินเท่าไรแล้วเอามาช่วยแก้ปัญหาอะไรของรถไฟได้บ้าง นโยบายรัฐบาลไม่เคยอยู่บนพื้นฐานความจริงเลย
รถไฟสร้างขึ้นเพื่อบริการประชาชน ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย หากไปดูรัฐก่อสร้างรถไฟฟ้าใช้เงินมหาศาลเพื่อให้คนกลุ่มเดียวใช้เท่านั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อตั้งมา 30 กว่าปี แต่มีหนี้สินมากกว่า รฟท.อีก ทำไม รมต.คมนาคมไม่ไปดูบ้าง แต่กลับมามุ่งเน้นที่ รฟท.และที่ดินหัวลำโพง
“ผมฝากถาม รมต.คมนาคมว่าทำไมต้องเป็นหัวลำโพง ในเมื่อตามแผนตั้งบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เพื่อบริหารทรัพย์สินรถไฟในรายงานไม่มีชื่อพัฒนาที่ดินหัวลำโพง มีแต่ที่อื่นๆ แล้วทำไมวันนี้ต้องหัวลำโพง ขณะที่ รฟท.ยังมีที่ดินว่างๆ สวยๆ เช่น แถวช่องนนทรี 200 กว่าไร่ อยู่ตรงข้ามบางกะเจ้า วิวสวยมาก ทำไมไม่ไปพัฒนา ทำไมต้องมุ่งที่ถนนพระราม 4 ซึ่งต้องบอกตรงๆ ว่าทุกวันนี้ย่านวิทยุ สาทรรถติดมาก มีโครงการ โรงแรมมากมายอยู่แล้ว แล้วจะมาเปิดที่หัวลำโพงอีก ท่านมีความสุขกับการเห็นรถติดหรือ”
ส่วนกรณีจุดตัดกับถนนประเด็นนี้รถติดจากรถไฟไม่นาน และอยากจะบอกว่าในฐานะที่ผมเคยทำงานที่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สมัยที่ กทพ.ก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 ได้เสนอก่อสร้างทางด่วนลงยมราช เป็นทางยกระดับข้ามทางรถไฟ แต่กระทรวงคมนาคมบอกว่าไม่ให้ทำ โดยให้ทำทางลงตัดกับทางรถไฟ ทำให้ตอนเปิดทางด่วนแรกๆ มีรถชนกัน เพราะรถที่ลงทางด่วนที่เป็นทางโค้งแล้วเจอทางรถไฟต้องเบรกกะทันหัน นี่คือสิ่งที่กระทรวงคมนาคมทำ เป็นอะไรที่แปลก และในโลกนี้ไม่มีที่ไหนที่สร้างถนนใหม่แล้วไปตัดรถไฟ มีแต่สร้างถนนข้ามหรือลอดใต้รถไฟ
“รถไฟทำให้รถติด พูดได้อย่างไร คนในรถไฟมีเท่าไร แต่รถยนต์ 1 คันมี 1 คน หลักการทั่วโลก ระบบรางส่วนรวมต้องได้สิทธิ์ก่อน ไม่ใช่ให้รถเก๋งไปก่อน นายกฯ ต้องลงมาดูเองว่าสมควรหรือไม่ และคมนาคมต้องตอบว่าทำไมต้องเป็นหัวลำโพง ตรงนี้มีอะไรที่ต้องเอาไปให้ได้ ส่วนผู้ว่าฯ รฟท.ท่านเป็นลูกจ้าง รฟท. ไม่ใช่ลูกจ้างคมนาคม ดังนั้นหน้าที่คือต่อรถไฟ รักษาผลประโยชน์รถไฟ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแบบนี้”
นายประภัสร์กล่าวว่า ตอนเริ่มแผนก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ สมัยที่ตนเป็นผู้ว่าฯ รฟท.นั้นไม่มีนโยบายหรือพูดถึงการปิดหัวลำโพง มีแต่บอกว่าเดินรถคู่กันไป โดยเฉพาะรถไฟทางไกลทั้งหมดยังต้องเข้าหัวลำโพงเพื่อให้ประชาชนทางไกลมีสัมภาระมาด้วยไม่ลำบาก ถามว่าไม่เข้าหัวลำโพงแล้วประชาชนจะเดินทางอย่างไร แล้วยังต้องขนสัมภาระกันอีก ผู้คุมนโยบายคิดกันบ้างหรือไม่ เรื่องนี้จึงรับไม่ได้
ประเด็นหนี้สิน ต้องบอกว่ารถไฟไม่ได้เป็นหนี้แต่รัฐบาลไม่จ่ายชดเชยให้ หากรัฐจ่ายหนี้ก็หายหมด รถไฟอายุกว่า 100 ปี ที่ผ่านมาให้บริการประชาชน ช่วยเรื่องการเดินทางลดค่าใช้จ่าย คิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ตอบแทนประเทศมูลค่ามากมาย ทำไมไม่คิดจุดนี้ นอกจากนี้ การตั้งกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแล แต่วันนี้กรมรางจะเอาทุกรางของรถไฟไปเป็นเจ้าของ เอากรรมสิทธิ์ไปหมด กรมรางควรทำหน้าที่กำกับ ไม่ควรยุ่งเรื่องกรรมสิทธิ์
ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมต้องทบทวน หัวลำโพงต้องมีรถชานเมืองและรถไฟทางไกลเข้ามาให้บริการประชาชน เปิดทั้งหัวลำโพงและบางซื่อควบคู่กันไป ใครใกล้ที่ไหน ไปใช้บริการที่นั่น ส่วนที่ รฟท.จะจัดฟังความเห็นเรื่องปิดหัวลำโพงวันที่ 14 ธ.ค.นั้น ตนเห็นว่าไม่ควรจัดเลยนอกจากกระชั้นชิดกับวันที่ 23 ธ.ค.ที่คมนาคมบอกจะหยุดเดินรถแล้ว ส่วนคนที่ถามกันนั้น เป็นผู้ใช้บริการหรือไม่ เพราะผู้โดยสารจริงๆ ไม่มีโอกาสได้มาฟัง มาพูด เวทีไม่ต้องจัดให้เสียเวลา เสียเงิน เพราะจากที่สหภาพฯ รฟท.ได้ลงพื้นที่สอบถามความเห็นผู้ใช้บริการหลายสัปดาห์แล้ว ไม่มีใครเห็นด้วยกับการปิดหัวลำโพงเลย
รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า การวางแนวเส้นทางรถไฟ และสถานีรถไฟนั้น สะท้อนถึงแนวคิดการคมนาคมขนส่งด้านโลจิสติกส์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการใช้แม่น้ำเป็นการคมนาคมหลัก ดังนั้นสถานีรถไฟจึงมักใกล้กับแม่น้ำเพื่อเชื่อมกันได้สะดวกและต่อเนื่อง โดยในอดีตที่ผ่านมามีเหตุการณ์ตัดระยะและหยุดเดินรถไฟ 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2507 มีการตัดระยะรถไฟสายแม่กลองจากสถานีปากคลองสานถึงแค่วงเวียนใหญ่ ทำให้คนจากจังหวัดสมุทรสาคร มหาชัย เดินทางมาถึงหัวลำโพงไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลสมัยนั้นอ้างเหตุรถไฟกีดขวางการจราจร ซึ่งเหมือนเหตุผลที่ใช้อ้างในวันนี้เลย เพียงแต่สมัยนั้นยังไม่มีโซเชียล
ครั้งที่ 2 ปี 2546 เป็นการยุบเลิกสถานีรถไฟธนบุรี หรือบางกอกน้อย โดยย่นระยะทางไปตั้งสถานีใหม่ที่สะพานอรุณอัมรินทร์ ซึ่งลึกเข้าไป ออกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้กระทบต่อการเดินทางของสายใต้ นครปฐม การเชื่อมต่อไม่ดี ดังนั้น จึงไม่อยากให้เกิดเป็นครั้งที่ 3 ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ทำไมชอบทำลายประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตแล้วไปสร้างสิ่งเทียมขึ้นมา เป็นประวัติศาสตร์กำมะลอ แทนที่จะอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตให้ดำรงอยู่ต่อไป