สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรและคณะกรรมการนักศึกษาคณะโบราณคดีไม่เห็นด้วยกับกระทรวงคมนาคมปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง หลังอ้างทำให้รถติด ขอให้ทบทวนนโยบายปิดหัวลำโพง พร้อมดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ทุกวิถีทาง
จากกรณีกระทรวงคมนาคมอ้างว่าต้องการแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ที่เกิดจากทางรถไฟตัดกับถนน เป็นเหตุให้รถยนต์บนท้องถนนต้องหยุดรอให้รถไฟวิ่งผ่านไปก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงจะยกเลิกรถไฟทุกขบวนวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป โดยให้จอดแค่สถานีกลางบางซื่อเท่านั้น จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่ต้องใช้บริการรถไฟ หรือนักวิชาการต่างๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 พ.ย. สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรออกแถลงการณ์ร่วมระหว่าง สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร คณะกรรมการนักศึกษาคณะโบราณคดี
เรื่อง คัดค้านนโยบายการปิดบริการสถานีรถไฟกรุงเทพ( หัวลำโพง) ขอให้มีการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของสถานีรถไฟกรุงเทพให้ชัดเจน โดยมีใจความว่า
“จากข่าวกรณีการปิดบริการสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป โดยใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีปลายทางแทน ทำให้ไม่มีรถไฟโดยสารเข้าสถานีกรุงเทพอีก ด้วยเหตุผลในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนน ทั้งยังมีแผนการพัฒนาอาคารสถานีหลังปิดบริการ ที่อ้างว่าจะพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะให้แก่คนเมืองและเพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยยังคงอนุรักษ์อาคารสถานีและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้อย่างครบถ้วนนั้น
สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะกรรมการนักศึกษาคณะโบราณคดี ในฐานะองค์กรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีการจัดการเรียนการสอนทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม มีความกังวลใจและไม่เห็นด้วยต่อการจัดการดังกล่าว เนื่องจากการปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ และเปลี่ยนไปใช้สถานีกลางบางชื่อเป็นสถานีปลายทางแทนนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดรับกับการใช้บริการขนส่งสาธารณะของประชาชน ทำให้การใช้บริการขนส่งสาธารณะลำบากมากกว่าเดิม และเป็นการเพิ่มภาระและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ไม่สอดคล้องกับการอ้างเหตุผลที่จะแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนน ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพนั้น ทั้งในเรื่องของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและพัฒนาศักยภาพเชิงพาณิชย์สามารถกระทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องปิดบริการสถานีรถไฟกรุงเทพแต่ประการใด
นอกจากนี้ ประเด็นในเรื่องแผนการพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพนั้นยังน่าเป็นห่วง เพราะแผนการพัฒนาพื้นที่ที่กล่าวอ้างว่าจะพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะให้แก่คนเมือง และยังคงอนุรักษ์สถานีและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้นั้น เกรงว่าจะเป็น “ข้ออ้างในการพัฒนาศักยภาพเชิงพาณิชย์” ที่เล็งเห็นผลประโยชน์ทางพาณิชย์มากกว่าการตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม จนนำไปสู่การจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่ย่ำแย่และเลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นมาโดยตลอดในสังคมไทย
สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะกรรมการนักศึกษาคณะโบราณคดี ขอเรียกร้องให้ผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องทบทวนและยกเลิกนโยบายการปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ ขอให้มีการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของสถานีรถไฟกรุงเทพให้ชัดเจน หากไม่มีการพิจารณาอีกครั้ง เราจะดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์สถานีรถไฟกรุงเทพต่อไปทุกวิถีทาง ให้ท่านทั้งหลายได้ยินเสียงของพวกเรา และได้ตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม ก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะสูญหายไป ไม่หลงเหลืออะไรให้กับคนรุ่นเรา”