ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 10 เดือนปี 64 มีมูลค่า 8,177.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 51.56% เหตุยอดส่งออกทองคำหดตัวแรงถึง 75.02% แต่หากหักทองคำออกยอดส่งออกที่แท้จริงเพิ่ม 26.87% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คาดแนวโน้มดีต่อเนื่อง แต่ต้องจับตาโอไมครอนว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 8,177.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 51.56% โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วน 3.67% ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย แต่หากหักทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 4,931.69 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.87%
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกลดลงมาจากการส่งออกทองคำในช่วง 10 เดือนลดลงเหลือเพียงมูลค่า 3,245.40 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงสูงถึง 75.02% เพราะราคาทองคำกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่ได้มีการส่งออกไปเก็งกำไรส่วนต่างราคาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่หากหักทองคำออกจะเห็นได้ว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นถึง 26.87% เป็นการเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่ฟื้นตัวขึ้นจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น
สำหรับสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 20.51% เครื่องประดับทอง เพิ่ม 33.93% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 35.69% เพชรเจียระไน เพิ่ม 35.26% เป็นต้น ส่วนตลาดส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 54.64% อินเดีย เพิ่ม 67.76% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 138.40% ญี่ปุ่น เพิ่ม 7.73% เบลเยียม เพิ่ม 16.41% ออสเตรเลีย เพิ่ม 20.07% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 35.37% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 77.33% แต่ฮ่องกงลด 0.55% เยอรมนีลด 4.24%
นายสุเมธกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2564 คาดว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจะยังดีขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจในหลายประเทศฟื้นตัว และเข้าสู่ช่วงเทศกาลทั้งคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า เร่งนำเข้าเพื่อไปจำหน่ายให้คนซื้อเป็นของฝาก ของขวัญ แต่ต้องจับตาการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่กำลังเกิดขึ้นว่าจะมีผลกระทบรุนแรงมากน้อยแค่ไหน หากไม่รุนแรงก็จะทำให้เศรษฐกิจและการบริโภคสินค้ากลุ่มนี้ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ถ้ารุนแรงก็ต้องดูว่าแต่ละประเทศจะมีมาตรการอะไรออกมารับมือและเข้มงวดหรือไม่
อย่างไรก็ตาม GIT มีแผนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยต่อเนื่อง โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน และผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการของผู้บริโภค และใช้ช่องทางการตลาดออนไลน์ในการขยายโอกาสในการขายสินค้า ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้า และตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังได้เตรียมจัดงานเทศกาลนานาชาติ “พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี” ระหว่างวันที่ 3-7 ก.พ. 2565 เพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวด้วย