สถาบันอัญมณีฯ เผยผู้ผลิตพลอยชั้นนำศรีลังกา และตัวแทนสมาคมพลอยสีโลก เชิญเข้าร่วมศึกษาเชิงลึกก้อน “แซปไฟร์” ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก น้ำหนัก 510 กิโลกรัม ที่เพิ่งค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า GIT ได้รับเชิญจากมร.กามินี ซอยซา ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริษัท Mincraft ผู้ผลิตและจำหน่ายพลอยชั้นนำของประเทศศรีลังกา และตัวแทนจาก The International Colored Gemstone Association (ICA) สมาคมด้านพลอยสีที่สำคัญของโลก เข้าร่วมในการศึกษาเชิงลึกก้อนแซปไฟร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก น้ำหนักถึง 510 กิโลกรัม ที่ค้นพบจากหมู่บ้าน Kahawatta ประเทศศรีลังกาเมื่อเร็วๆ นี้
“เป็นครั้งแรกของโลกที่ก้อนแซปไฟร์ได้รับการวิเคราะห์ในเชิงลึก ซึ่งประกอบด้วยการตรวจวิเคราะห์และศึกษาคุณลักษณะ เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลพลอยแซปไฟร์จากแหล่งอื่นๆ และบ่งชี้สภาพแวดล้อมในการเกิดที่แท้จริง (Origin) ของก้อนแซปไฟร์นี้ โดยผลการศึกษาจะได้รับการนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีศาสตร์ International Gemmological Conference (IGC) และตีพิมพ์ในวารสารด้านอัญมณีศาสตร์นานาชาติต่อไป” นายสุเมธกล่าว
สำหรับก้อนแซปไฟร์ดังกล่าวถูกพบในหมู่บ้าน Kahawatta ห่างจากเมืองรัตน-ปุระ แหล่งพลอยชื่อดังของประเทศศรีลังกาไปประมาณ 28 กิโลเมตร โดยก้อนแซปไฟร์นี้ประกอบไปด้วยผลึกแซปไฟร์ขนาดเล็กจำนวนมาก ขนาดตั้งแต่ 0.5 ถึง 6 เซนติเมตร ส่วนใหญ่มีสีน้ำเงินอมเทาอ่อน ซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน
นายสุเมธกล่าวว่า มร.กามินี ซอยซา ได้ประสานมายังสถาบันฯ ในฐานะห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครี่องประดับได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยได้ส่งตัวอย่างผลึกแซปไฟร์มาเพื่อทำการวิจัยและตรวจสอบเชิงลึกด้วยเทคนิคขั้นสูงต่างๆ เช่น Raman Spectroscopy , LA-ICP-MS โดยพบว่า แต่ละผลึกมีมลทินเส้นเข็มเป็นจำนวนมาก มีความเป็นไปได้ที่พลอยเหล่านี้จะแสดงปรากฏการณ์สาแหรก หากได้รับการเจียระไนแบบหลังเบี้ย และยังพบมลทินแร่อื่น เช่น แร่รูไทล์ (rutile) แร่ยูรานิไนต์ (uraninite) แร่เพทาย (zircon) เป็นต้น
นอกจากนี้ ลักษณะก้อนที่พบยังแสดงรูปร่างผลึกที่ชัดเจน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าก้อนแซปไฟร์มีแหล่งกำเนิดใกล้กับหินเหย้าแบบปฐมภูมิ (primary host rock) หากมีการนำไปปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนจะทำให้สีดูสวยงามขึ้น
“ความร่วมมือในการศึกษาและวิจัยก้อนแซปไฟร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ระหว่างสถาบันฯ กับบริษัท Mincraft ประเทศศรีลังกาในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสถาบันฯ ทั้งในด้านมาตรฐานและความเป็นเลิศด้านวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีของประเทศไทย” นายสุเมธกล่าว