ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมขยับขึ้นยกแผง 45 กลุ่มหนุนดัชนีเชื่อมั่นฯ พ.ย.สูงสุดในรอบ 8 เดือน ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าแตะ 97.3 สูงสุดรอบ 21 เดือน เหตุรัฐคลายล็อก เปิดประเทศ ส่งออกโต “กกร.” ถกพรุ่งนี้ประเมิน ศก.ปี 65 รับการมา “โอไมครอน”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ระดับ 85.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.1 ในเดือนตุลาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันและสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับแต่ เม.ย. 64 ขณะที่ค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.3 จากระดับ 95.0 ในเดือนต.ค. 64 โดยนับเป็นค่าดัชนีสูงสุดในรอบ 21 เดือน ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ต่อเนื่องและเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 ที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ขณะเดียวกันรัฐได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องและภาคการส่งออกมีการเติบโตสูง
“เราพบว่าค่าดัชนี 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ส.อ.ท.ปรับเพิ่มขึ้นหมดและทุกประเภทอุตสาหกรรมทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ดีขึ้นมากหลังการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตามล่าสุดแม้จะมีการพบผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนแล้ว 1 รายแต่รัฐก็ได้มีมาตรการดูแลเข้มงวด ขณะเดียวกันมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชื้อดังกล่าวยังไม่รุนแรง ภาพรวมความวิตกกังวลก็มีบ้างแต่ยังไม่มาก แต่เราต้องไม่ประมาท อยากให้ทุกส่วนร่วมมือกันดูแลอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดการล็อกดาวน์และไม่อยากให้เกิดเคอร์ฟิวอีก รัฐจึงควรเตรียมมาตรการรองรับหากมีการระบาดรอบใหม่ ตลอดจนออกมาตรการตรวจสอบคัดกรองนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด” นายสุพันธุ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม วันที่ 8 ธ.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยที่จะมีการประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 ที่จะต้องนำผลกระทบของโอไมครอนมาวิเคราะห์ร่วมด้วย ส่วนของภาพรวมปี 2564 กกร.ได้ประเมินเศรษฐกิจจะขยายตัวในกรอบ 0.5-1.5% การส่งออกขยายตัว 12.0-14.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 1.0-1.2% ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า ศก.น่าจะขยายตัวได้ในระดับที่คาดการณ์ไว้ แต่การส่งออกน่าจะเติบโตได้ดีกว่าคาดการณ์เล็กน้อย
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐจากผลสำรวจเดือนนี้ ประกอบด้วย 1) เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้เร็วที่สุด รวมถึงการฉีดเข็ม 3 (Booster) ที่มีความสามารถในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ตลอดจนเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดระลอกใหม่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนได้รับ ทราบถึงแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่
2) เร่งจัดหาและนำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดน 3) ขอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น พยุงราคาพลังงาน, ตรึงราคาค่าไฟฟ้า (FT) และลดค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า, น้ำประปา)
4) เร่งออกมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้มาตรการควบคุมโรคในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ 5) สนับสนุนสินค้า Made in Thailand ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเอกชนมากขึ้น