กทท.เซ็นร่วมทุน GPC 'กัลฟ์-ปตท.-ไชน่า ฮาร์เบอร์' PPP 35 ปี แหลมฉบังเฟส 3 ลงทุนท่าเทียบเรือ F กว่า 3.2 หมื่นล้าน สร้างปี 66 เปิดบริการท่า F1 ปี 68 ส่วนท่า F2 เปิดปี 70 คาดรายได้ 5 ปีแรก 4 พันล้าน หลังปี 72 เพิ่มเป็น 8 พันล้านทุ่มใช้ระบบไอทีบริการเต็มรูปแบบ ดันติดอันดับท่าเรือที่ทันสมัย 1 ใน 20 ของโลก
วันที่ 25 พ.ย. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และกลุ่มกิจการร่วมค้า จีพีซี โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายคณิศ แสงสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม กรรมการ กทท. ผู้บริหาร กทท. และผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มบริษัทร่วมค้า จีพีซี เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีเรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. ร่วมลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F กับกลุ่มกิจการร่วมค้าประกอบด้วย นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และนายหวัง ไห่กวง ตัวแทนจาก CHEC OVERSEA ร่วมลงนามในสัญญาฯ
สำหรับโครงการพัฒนา ทลฉ.ระยะที่ 3 มีจำนวน 3 ท่า (ท่าเทียบเรือ F, E, E0) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท (แบ่งเป็น กทท.ลงทุนประมาณ 48,329 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 60,886 ล้านบาท) โดยส่วนของท่าเทียบเรือ F ภาครัฐลงทุนประมาณ 13,787 ล้านบาท เอกชนลงทุน 32,100 ล้านบาท โดยเอกชนให้ผลตอบแทนตลอดระยะเวลาโครงการสัมปทาน 35 ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรประมาณ 4,000 ล้านบาท รวมผลตอบแทนให้รัฐ 32,000 ล้านบาท ผลตอบแทน IRR ประมาณ 11%
เรือโท ยุทธนา โมกขาว รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า กทท.จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู โดยจะเร่งรัดในส่วนของท่าเทียบเรือ F ก่อน ซึ่ง ทลฉ.เฟส 1, 2 ปัจจุบันรองรับได้ 11.1 ล้านทีอียู โดยปริมาณตู้สินค้าปี 2563 มีจำนวน 8.42 ล้านทีอียู และแม้ว่าจะเกิดโรคโควิด-19 แต่ปัจจุบันภาวะการค้าขายระหว่างประเทศกลับเข้ามาเกือบปกติแล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องเตรียมพร้อมท่าเรือ ก่อนที่เฟส 1, 2 จะเต็ม ซึ่งเฟส 3 จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มอีก 4 ล้านทีอียู (ทีอียู คือ เทียบเท่าตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต) สามารถรองรับเรือที่มีขนาดบรรทุกสินค้าใหญ่ที่สุดในโลกได้ มีการบริหารจัดการสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยด้วยระบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งจะมีโครงข่ายเชื่อมโยงหลังท่าเรือ ทั้งทางบก ทางราง และทางเรือชายฝั่ง อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผสมผสานให้เป็นท่าเรือสีเขียว คำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง อันจะนำไปสู่ท่าเรือชั้นนำระดับมาตรฐานโลกต่อไป
ทั้งนี้ กทท.จะเป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้างงานทางทะเล เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือชายฝั่ง งานระบบรางและย่านรถไฟ ในขณะที่ GPC จะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษาท่าเทียบเรือ F1 และ F2 เพื่อรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าด้วยระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ โดย GPC จะได้รับรายได้จากการประกอบกิจการท่าเรือ เช่น ค่าภาระการใช้ท่าของเรือ ค่าภาระยกขนตู้สินค้า ค่าภาระการใช้ท่าของตู้สินค้า และรายได้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด คาดว่าท่าเทียบเรือ F1 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2568
นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทน GPC กล่าวว่า บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ถือหุ้นในสัดส่วน 40%, บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) สัดส่วน 30% และ บริษัท เชค โอเวอร์ซี อินฟราสตรัคเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (CHEC OVERSEA INFRASTRUCTURE HOLDING PTE. LTD.: CHEC OVERSEA) สัดส่วน 30% บริษัทลูกของ China Harbour Engineering Company Limited โดยมีหน้าที่ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ ซ่อมบำรุงรักษา ตลอดระยะเวลา 35 ปี ซึ่งในช่วง 2 ปีแรก กทท.จะต้องถมทะเลเตรียมพื้นที่ และปี 2566 กลุ่มฯ จะเริ่มเข้าติดตั้งอุปกรณ์ยกตู้คอนเทนเนอร์ กำหนดเปิดดำเนินการ F1 เฟสแรกปี 2568 และเฟส 2 จะเริ่มก่อสร้างปี 2570 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ปี 2572
โดยท่าเรือ F1และ F2 สามารถรองรับได้ 4 ล้านทีอียู เป็นท่าเรือที่ใหญ่ มีความลึก 18.5 เมตร ความยาวหน้าท่า 2 กม. รองรับเรือขนาดใหญ่ระดับเรือแม่ได้ โดยจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ เพื่อยกระดับให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย 1 ใน 20 ท่าของโลก นอกจากนั้นมีนโยบายส่งเสริมการขนส่งอย่างไร้รอยต่อ เพิ่มการใช้ระบบรางจากปัจจุบันไม่เกิน 10% เพิ่มเป็น 30% ตามนโยบายรัฐ
ซึ่งจะนำจุดแข็งที่แต่ละพันธมิตรมีมาร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ โดยทาง GULF พร้อมนำความแข็งแกร่งและประสบการณ์อันยาวนานในการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศมาร่วมพัฒนาท่าเรือ ส่วนทางพันธมิตรอย่าง PTT TANK มีประสบการณ์ด้านการบริหารท่าเทียบเรือ การจัดการคลังสินค้า และการขนถ่ายผลิตภัณฑ์เหลว และ CHECOVERSEA บริษัทลูกของ China Harbour Engineering Company Limited เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และโครงการท่าเทียบเรือตู้สินค้าระดับโลก
สำหรับการบริหารท่าเรือนั้น อยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อจ้างผู้มีประสบการณ์บริหารท่าเรือระดับโลกเข้ามาบริหาร
ส่วนผลตอบแทนนั้น มองระยะยาว ซึ่งเอกชนรับความเสี่ยง ดังนั้นหากสามารถจัดการด้านต้นทุนก่อสร้างเช่นเจรจาผู้รับเหมาได้ในราคาถูกจะมีกำไร โดยคาดการณ์รายได้ท่าเรือ F1 เปิดบริการในปี 2568 คาดว่าจะมีรายได้ 1 ทีอียูประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยคาดช่วงปี 68-72 ประมาณ 4,000 ล้านบาท หลังปี 72 รายได้จะเพิ่มเป็น 8,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หลังจากลงนามจะเริ่มงานในส่วนของการออกแบบควบคู่ไปกับการเตรียมทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าโครงการและพร้อมร่วมมือกับภาครัฐในการผลักดันให้เกิดท่าเรือที่จะกลายเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์สำคัญทางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ที่จะสนับสนุนโครงการเมกะโปรเจกต์อื่นๆ ของทางกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตอีกด้วย