วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และกลุ่มกิจการค้า จีพีซี โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายคณิศ แสงสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม กรรมการ กทท. ผู้บริหาร กทท. และผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มบริษัทร่วมค้า จีพีซี เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีเรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. ร่วมลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F กับกลุ่มกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และนายหวัง ไห่กวง ตัวแทนจาก CHEC OVERSEA ร่วมลงนามในสัญญาฯ ณ ห้องบอลรูม ชั้น 4 โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ
สำหรับโครงการพัฒนา ทลฉ.ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท (แบ่งเป็น กทท. ลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ในส่วนของเอกชนแบ่งเป็นเงินลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 25,000 ล้านบาท และท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5,000 ล้านบาท) โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี วงเงินเอกชนลงทุนประมาณ 30,871 ล้านบาท มุ่งผลักดันทลฉ.สู่ประตูการค้า การลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการภายในปี พ.ศ. 2568 ทั้งนี้ กทท.จะเป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้างงานทางทะเล เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือชายฝั่ง งานระบบรางและย่านรถไฟ ในขณะที่ GPC จะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษาท่าเทียบเรือ F1 และ F2 เพื่อรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าด้วยระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ ซึ่งมีความสามารถในการรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้อย่างน้อย 4,000,000 ทีอียูต่อปี โดย GPC จะได้รับรายได้จากการประกอบกิจการท่าเรือ เช่น ค่าภาระการใช้ท่าของเรือ ค่าภาระยกขนตู้สินค้า ค่าภาระการใช้ท่าของตู้สินค้า และรายได้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด คาดว่าท่าเทียบเรือ F1 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2568
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการพัฒนา ทลฉ.ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของอีอีซี ที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ตามความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมเพิ่มมูลค่า และการบริหารจัดการขนส่งหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งจะช่วยพัฒนาและขยายพื้นที่หลังท่าของ ทลฉ.ได้อย่างเต็มศักยภาพ
ด้าน เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ กทท.สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า โครงการนี้มีอายุสัญญาสัมปทาน 35 ปี ซึ่ง กทท. จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู โดยจะเร่งรัดในส่วนของท่าเทียบเรือ F ก่อน ซึ่งโครงการพัฒนา ทลฉ.ระยะที่ 3 จะสามารถรองรับเรือที่มีขนาดบรรทุกสินค้าใหญ่ที่สุดในโลกได้ มีการบริหารจัดการสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยด้วยระบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งจะมีโครงข่ายเชื่อมโยงหลังท่าเรือ ทั้งทางบก ทางราง และทางเรือชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผสมผสานให้เป็นท่าเรือสีเขียว คำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง อันจะนำไปสู่ท่าเรือชั้นนำระดับมาตรฐานโลกต่อไป
นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทน GPC กล่าวว่า ทางกลุ่ม GPC รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมทำ PPP กับทางภาครัฐ ซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่ม GPC นี้ถือเป็นการนำจุดแข็งที่แต่ละพันธมิตรมีมาร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ โดยทาง GULF พร้อมนำความแข็งแกร่งและประสบการณ์อันยาวนานในการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศมาร่วมพัฒนาท่าเรือ ส่วนทางพันธมิตรอย่าง PTT TANK มีประสบการณ์ด้านการบริหารท่าเทียบเรือ การจัดการคลังสินค้า และการขนถ่ายผลิตภัณฑ์เหลว และ CHECOVERSEA บริษัทลูกของ China Harbour Engineering Company Limited เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และโครงการท่าเทียบเรือตู้สินค้าระดับโลก โดยหลังจากลงนามเสร็จ จะเริ่มงานในส่วนของการออกแบบควบคู่ไปกับการเตรียมทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าโครงการและพร้อมร่วมมือกับภาครัฐในการผลักดันให้เกิดท่าเรือที่จะกลายเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์สำคัญทางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ที่จะสนันสนุนโครงการเมกะโปรเจกต์อื่นๆ ของทางกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตอีกด้วย