xs
xsm
sm
md
lg

กทท.คาดปลาย พ.ย.เซ็นร่วมทุน "กัลฟ์-ปตท." สร้าง ทลฉ.เฟส 3 เร่งถมทะเลส่งมอบพื้นที่ปี 66 เริ่มรับรู้รายได้ปี 68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทท.คาดเซ็น "กัลฟ์-ปตท." ปลาย พ.ย.เร่งงานถมทะเลออก NTP สร้างท่า F ปลายปี 66 พร้อมเริ่มต้นนับอายุสัมปทาน 35 ปี โดยยกเว้นจ่ายค่าตอบแทน 2 ปีแรก เริ่มรับรู้รายได้ปี 68 เผยปริมาณตู้สินค้าโต 3%/ปี คาดอีก 10 ปีประมูลท่า E ครบเฟส 3 รองรับรวม 18 ล้านทีอียู ส่วนปี 65 ตั้งเป้ารายได้แตะ 1.6 หมื่นล้าน

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือกและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดเห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการฯ เรียบร้อยแล้วนั้น คาดว่าจะลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้ภายในปลายเดือน พ.ย. 2564 หรืออย่างช้าต้นเดือน ธ.ค. 2564

โดยการท่าเรือฯ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู ตลอดอายุสัมปทาน 35 ปี คิดเป็นค่าตอบแทนทั้งหมด 87,471 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) จะอยู่ที่ 29,050 ล้านบาท และกิจการร่วมค้า GPC จะต้องสมทบเงินเข้ามูลนิธิ ท่าเรือชุมชนร่วมใจ ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับเยียวยากรณีเกิดเหตุความเสียหายจากการก่อสร้างนอกเหนือคาดหมาย ในอัตรา 5,000 บาท/ไร่/ปี นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ นอกจากนี้ยังมีการดูแลกลุ่มประมงพื้นบ้าน เรือเล็ก และกลุ่มเลี้ยงหอย เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังลงนามสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC จะยังไม่นับอายุสัมปทาน 35 ปี โดยจะเริ่มนับเมื่อ กทท.ได้ออก NTP (Notice to Proceed) ส่งมอบพื้นที่ให้ GPC คือจะเริ่มนับสัญญาปีที่ 1 ตั้งแต่ปลายปี 2566 และยกเว้นการจ่ายค่าตอบแทนใน 2 ปีแรก (ปี 2566-2568) เนื่องจากเป็นช่วงก่อสร้างยังไม่มีรายได้ โดยจะเริ่มจ่ายค่าผลตอบแทน ในปีที่ 3 ของสัญญา หรือปี 2568 ซึ่งจะเปิดให้บริการ โดย กทท.จะได้รับค่าตอบแทนคงที่ปีแรก จำนวน 89 ล้านบาท และจะได้ค่าตอบแทนผันแปรกรณีปริมาณตู้สินค้าเพิ่มตามสัญญาอีก 100 บาทต่อทีอียู (ตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต)

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถจาก 11 ล้านทีอียูในปัจจุบันเป็น 18 ล้านทีอียู มีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท (แบ่งเป็น งานโครงสร้างพื้นฐานที่ กทท.ลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท) โดยจะเริ่มดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี เอกชนลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท มีขีดความสามารถรองรับได้ 4 ล้านทีอียู ส่วนท่าเทียบเรือ E วงเงินลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาทและท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะรองรับได้อีก 3 ล้านทีอียู จะมีการศึกษาการร่วมลงทุนและรูปแบบของท่าเรือต่อไป โดยคาดว่าจะดำเนินการหลังจากเปิดท่าเทียบเรือ F ประมาณ 10 ปี
 
ส่วนงานโครงสร้างพื้นฐานนั้น ที่ กทท.จะลงทุนเอง ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลกับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี วงเงินรวม 21,320 ล้านบาท เพื่อรองรับงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือตู้สินค้า ท่าเรืออเนกประสงค์ ท่าเรือชายฝั่ง ท่าเรือบริการ งานระบบรางและย่านรถไฟ ซึ่งจะดำเนินการต่อไปในอนาคต และ กทท.ได้มีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 2564 ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ คาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 2564 และหลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินงานทางทะเล 

พร้อมกันนี้ กทท.ได้ว่าจ้าง บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่งคอลซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอลซัลแตนส์ จำกัด เพื่อควบคุมงานก่อสร้าง โครงการฯ วงเงิน 898 ล้านบาท โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2563
 
โดยงานถมทะเลมีระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยภายใน 2 ปีแรก หรือในปลายปี 2566 จะต้องเร่งก่อสร้าง เพื่อให้กทท.สามารถออก NTP ส่งมอบพื้นที่ ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เริ่มงานเกี่ยวกับอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ลานวางตู้สินค้า ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรทั้งหมด เช่น ปั้นจั่นหน้าท่า ฯลฯ และเปิดให้บริการในปี 2568
 
“ประเมินว่า ท่าเรือ F1, 2 จะรองรับปริมาณสินค้าเพิ่ม 4 ล้านทีอียู ซึ่งคาดว่าจะเต็มประมาณ 10 ปี จากนั้นจะพัฒนาท่าเทียบเรือ E และท่าเทียบเรือ E0 ซึ่งจะรองรับได้อีก 3 ล้านทีอียู โดยประเมินการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี ทั้งตู้สินค้าและรายได้ นอกจากนี้ในปี 2568 สัญญาบริหารท่าเทียบเรือ B ในเฟสแรกจะสิ้นสุด ซึ่ง กทท.จะมีการประมูล เพื่อหาเอกชนเข้าร่วมทุน PPP ซึ่งจะทำให้รายได้ของ กทท.เพิ่มขึ้น”

@คาดออก NTP เริ่มก่อสร้างท่า F ปลายปี 66 พร้อมวางหลักประกัน 4,000 ล้านบาท

ด้านเรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร กทท. กล่าวว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC จะต้องจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจใหม่ (SPV) เพื่อเข้าเซ็นสัญญาร่วมทุนโครงการฯ โดยมีทุนจดทะเบียน 12,000 ล้านบาท ขณะที่ เอกชนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในวันเซ็นสัญญา จำนวน 120 ล้านบาท (กทท. 100 ล้านบาท, อีอีซี 20 ล้านบาท) และตามเงื่อนไข เมื่อออก NTP ให้เริ่มงาน เอกชนจะต้องจ่ายหลักประกันการก่อสร้าง วงเงิน 4,000 ล้านบาท ให้ กทท. โดยหลังจากก่อสร้างเสร็จ 2 ปี (ปี 2568) เอกชนจะสามารถถอนคืนหลักประกันก่อสร้างจำนวน 2,000 ล้านบาท และเมื่อครบ 4 ปี (ปี 2570) จะถอนหลักประกันที่เหลือ อีก 2,000 ล้านบาทคืนได้ และเปลี่ยนเป็นหลักประกันสัญญา วงเงินเท่ากับมูลค่าโครงการ

@ปี 64 ตู้สินค้าโต 10% ดันรายได้เพิ่ม กำไรสุทธิทะลุ 6 พันล้านบาท

เรือโท กมลศักดิ์กล่าวถึงผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2564 ว่า การท่าเรือฯ มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่ารวมกว่า 9.8 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.18 และปริมาณเรือเทียบท่ารวม 11,041 เที่ยว ลดลง 0.46% มีกำไรสุทธิในภาพรวมของ กทท. ประมาณ 6,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.99% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,630 ล้านบาท ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณสินค้าปี 2564 จำนวน 8.42 ล้านทีอียูเพิ่มขึ้นกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มี 7.6 ล้านทีอียู โดยคาดว่าในปี 2565 การเติบโตจะอยู่ในระดับ 3% โดยจะมีรายได้ 15,900 ล้านบาท ปี 2566 คาดรายได้ เพิ่มเป็น 16,100 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 3% มีการปรับลดรายจ่ายนำเทคโนโลยี ระบบไอทีมาใช้ในการบริการให้มากที่สุด โดยปี 2565 กทท.มีงบลงทุนในการพัฒนารวม 2,100 ล้านบาท










กำลังโหลดความคิดเห็น