กทพ.ปักหมุดตอกเข็มสัญญา 1, 3 ทางด่วน “พระราม 3-ดาวคะนอง” 25 พ.ย.นี้สปีดก่อสร้างงานโยธา 4 สัญญา ดีเดย์เปิดบริการ ต.ค. 67 พร้อมเร่งปรับ TOR สัญญา 5 เป็นระบบ M-Flow เปิดประมูลปี 65
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ว่า จากที่ กทพ.ได้ลงนามผู้รับจ้างสัญญาที่ 1 ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กม. กับกิจการร่วมค้ายูเอ็น-ซีซี วงเงิน 7,350 ล้านบาทและสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี วงเงิน 7,359.3 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 แล้วนั้น โดยใช้เวลาก่อสร้าง 1,020 วัน ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในวันที่ 25 พ.ย. 2564 โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเป็นประธานพิธีเริ่มการก่อสร้าง
“โดยทั่วไปหลังเซ็นสัญญาจะมีเวลาประมาณ 3 เดือนจึงจะออก NTP เริ่มก่อสร้าง เพื่อให้ผู้รับเหมาเตรียมพร้อมทั้งแรงงาน อุปกรณ์ วัสดุ สถานที่ก่อสร้าง แต่เนื่องจากงานนี้ผู้รับเหมารับทราบว่าจะเร่งรัดงาน จึงจะ NTP ประมาณ 1 เดือน โดยงานก่อสร้างจะเสร็จสอดคล้องกับสัญญาที่ 2 และ 4 ที่กำลังก่อสร้าง โดยกำหนดแล้วเสร็จเปิดให้บริการโครงการในเดือน ต.ค. 2567”
สำหรับโครงการก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น 5 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1-4 เป็นงานโยธา และสัญญาที่ 5 เป็นงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและระบบควบคุมการจราจร โดยอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 2 ทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร จากเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ระยะทาง 5.3 กม. ผลงาน ณ เดือน ต.ค. 64 คืบหน้า 22.52% เร็วกว่าแผน 0.10% (แผนงาน 22.42%) และสัญญาที่ 4 งานก่อสร้างสะพานขึงขนาด 8 ช่องจราจร ช่วงสะพานยาว 450 เมตร สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทาง 2 กม. คืบหน้า 53.48% เร็วกว่าแผน 0.05% (แผนงาน 53.53%)
ส่วนสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างทีโออาร์ให้เป็นระบบ M-Flow ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเริ่มประมูลในปี 2565
นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า เนื่องจากเป็นโครงการที่ก่อสร้างอยู่ตามแนวเกาะกลางของถนนพระราม 2 จึงได้มีการวางแผนจัดการจราจรเพื่อลดผลกระทบระหว่างก่อสร้าง กทพ.ยึดตามหลักบริหารจัดการ 5 มิติ ได้แก่ 1. มิติการออกแบบของโครงสร้างทางยกระดับที่มีความสอดคล้องกัน โดยใช้ Precast Box Segment เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้าง เนื่องจากบริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนจะทับซ้อนกันระหว่างโครงการของ กทพ.กับกรมทางหลวง (ทล.)
2. มิติประชาสัมพันธ์ผู้ใช้ทางผ่านสื่อทั้งโทรทัศน์ วิทยุ แผ่นพับ Social Media เพื่อช่วยให้ประชาชนตัดสินใจก่อนเดินทาง โดย กทพ.และ ทล.จะติดตั้งกล้อง CCTV อย่างถาวร พร้อมทั้งติดตั้งป้ายไฟเป็นระยะ อธิบายทางข้างหน้า และตั้งป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ ป้ายบอกสิ่งต่างๆ เป็นระยะทางล่วงหน้าอย่างน้อย 1 กม. นอกจากนี้ จะจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก โดยขอให้ผู้ใช้ทางโหลดแอปพลิเคชัน EXAT PORTAL และ HIGHWAY TRAFFIC
3. มิติการบริหารงานจราจรจากการก่อสร้างให้กระทบน้อยที่สุด โดยให้ผู้รับจ้างจัดส่งแผนให้ กทพ. พิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินการก่อสร้าง
4. มิติการบริหาร กำกับ ติดตาม และเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด ซึ่งต้องรายงานให้กระทรวงคมนาคมรับทราบทุกเดือน เพื่อให้ทราบว่ามีปัญหาอุปสรรคหรือไม่ และ 5. มิติการบริหารพื้นที่ร่วมการก่อสร้าง โดย กทพ.และ ทล.จะไม่เข้าทำงานพร้อมกันในบริเวณที่มีพื้นที่ทับซ้อน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการปิดพื้นที่มาก และมีเครื่องจักรจำนวนมาก