ทางด่วน N2 ค่าก่อสร้างเพิ่ม 2,000 ล้าน จาก 1.4 หมื่นล้านเป็น 1.6 หมื่นล้าน เหตุปรับแบบช่วงโครงสร้างร่วมรถไฟฟ้าสีน้ำตาล กทพ.จ่อออกพันธบัตร 2,000 ล้าน เสริม TFF มั่นใจฐานะการเงินแข็งแกร่ง กทพ.เผยปี 65 เปิดประมูลด่วน N2 และสายกระทู้-ป่าตองกว่า 3 หมื่นล้าน
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 กทพ.มีแผนเปิดประมูลก่อสร้างโครงการทางด่วน 2 สาย ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W Corridor จากแยกเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม. ซึ่งขณะนี้วงเงินลงทุนโครงการเพิ่มจาก 14,000 ล้านบาท เป็น 16,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับยกระดับทางด่วนให้สูงขึ้นในแนวก่อสร้างร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ซึ่งโครงการผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) แล้วอยู่ในขั้นตอนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ทั้งนี้ กทพ.ได้ระดมทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) จำนวน14,382 ล้านบาท สำหรับดำเนินการก่อสร้างทางด่วน N2 ส่วนต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท กทพ.จะใช้วิธีออกพันธบัตร โดยหลัง ครม.อนุมัติจะดำเนินการออกพันธบัตร ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมเนื่องจาก กทพ.มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีกระแสเงินสดในมือประมาณ 4,400 ล้านบาท/ปี
“ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N2 กทพ.จะลงทุน 100% ทั้งก่อสร้างงานโยธา พร้อมระบบ O&M และจัดเก็บรายได้ เป็นสายทางที่สำคัญเพราะเชื่อมพื้นที่โซนตะวันออกและตะวันตกของ กทม.”
ส่วนช่วง N1 ซึ่งติดปัญหาช่วงผ่านหน้า ม.เกษตรฯ นั้น กทพ.กำลังเร่งจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาด้านวิศวกรรมโดยละเอียดในแต่ละรูปแบบการก่อสร้าง
2. ทางด่วนสายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 14,470 ล้านบาท โดยเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี รวมเวลาก่อสร้าง ปัจจุบันได้รับการอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว อยู่ในขั้นตอนเตรียมรอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
@ มี.ค. 65 สรุปออกแบบด่วน “ฉลองรัช-สระบุรี” เฟสแรกถึงวงแหวนรอบ 3
นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า นอกจากนี้มีโครงการทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104.7 กม. ซึ่งแบ่งเป็น 4 เฟสนั้น อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบเฟสแรก ระยะทางประมาณ 20 กม. เริ่มจากจุดเชื่อมต่อ จากทางพิเศษฉลองรัช (อาจณรงค์-รามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) บริเวณด่านจตุโชติมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตัดถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ และถนนลำลูกกา ซึ่งจะสิ้นสุดบริเวณถนนวงแหวนรอบที่ 3 ของกรมทางหลวง (ทล.) โดยจะศึกษาออกแบบเสร็จในเดือน มี.ค. 2565 จากนั้นจะเสนอ ครม.ขออนุมัติ โดย กทพ.จะออกพันธบัตรระดมทุนเพื่อใช้ก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าเฟสแรกมีค่าลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างต้นปี 2566 ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2568