“ศักดิ์สยาม” เจรจา BEM ชะลอขึ้นค่าผ่านทางด่วน”ศรีรัช-วงแหวนฯ”ลดค่าครองชีพประชาชน และเร่งแผน M-Flow บน 3 สายที่มีสัมปทาน ด้านBEM เตรียมจัดโปรฯคูปองราคาเดิม 1 ปี (15 ธ.ค.64-15 ธ.ค.65)
วันที่ 3 พ.ย. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมและคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้หารือร่วมกับ นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และ นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร BEM เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนจากกรณีการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาสัมปทาน ในวันที่ 15 ธันวาคม 2564
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ในปัจจุบัน ได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) อาจส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนผู้ใช้ทางด่วน โดยจากผลการประชุมหารือครั้งนี้ เห็นควรให้ กทพ. และ BEM กำหนดแนวทางการกำหนดมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนอันอาจเกิดขึ้น ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้แสดงความห่วงใยต่อกรณีการปรับค่าผ่านทางดังกล่าว จึงขอให้ทางบริษัท BEM ได้พิจารณาให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และช่วยเหลือประชาชนโดยการออกมาตรการในการส่งเสริมการตลาดหรือชะลอการขึ้นค่าผ่านทางที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 นี้ด้วย
ทั้งนี้ ผู้แทนบริษัท BEM ได้ตอบรับต่อที่ประชุมในการช่วยออกมาตรการส่งเสริมทางการตลาดเพื่อมิให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อการปรับขึ้นค่าผ่านทางในช่วงดังกล่าว โดยออกเป็นลักษณะของการส่งเสริมการตลาด หรือ Promotion ในรูปแบบผู้ใช้ทางที่ใช้คูปองชำระค่าผ่านทางในอัตราราคาเดิมที่ใช้อยู่ เป็นระยะเวลา 1 ปี (15 ธันวาคม 2564 – 15 ธันวาคม 2565) โดยทาง BEM จะทำหนังสือยืนยันมาตรการดังกล่าวแจ้งมายัง กทพ. เพื่อประชาสัมพันธ์ผู้ใช้ทางด่วนในช่วงดังกล่าวต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางของ กทพ. ที่อยู่ในการกำกับดูแลตามสัญญาสัมปทานของ BEM จำนวน 3 สายทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษสายศรีรัช ทางพิเศษสายอุดรรัถยา และทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยการนำเทคโนโลยีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-Lane Free Flow : M-Flow) มาใช้
โดย ให้ กทพ. จัดทำ action plan ให้ชัดเจนเพื่อเร่งรัดการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป
สำหรับการ พัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะแก่ประชาชนให้ได้รับความสะดวก นั้น บริษัท BEM ยินดีให้ความสนับสนุนกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อใช้ในระบบขนส่งสาธารณะที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการอยู่ โดยในระยะแรก ได้มีการพัฒนาระบบ EMV Contactless ซึ่งเป็นการหักเงินผ่านระบบบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของธนาคาร ทั้งในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง พร้อมบูรณาการร่วมกับรถโดยสารของ ขสมก. และทางพิเศษ และจะได้มีการขยายผล ให้ครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะของกระทรวงคมนาคม รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบในระยะต่อไป
สำหรับสัญญาสัมปทานทางด่วนสายศรีรัข-วงแหวนรอบนอกฯ กำหนดให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางทุก5 ปี นับจากเปิดโครงการ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2559 ซึ่งจะครบ5 ปี ในวันที่ 15 ธ.ค. 2564โดยตามร่างประกาศกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราค่าผ่านทางโครงการ ทางด่วนศรีรัช- วงแหวนรอบนอกฯ สำหรับรถ 4 ล้อ อัตราปัจจุบัน 50 บาท ปรัเพิ่ม 15 บาท เป็น 65 บาท รถ6-10 ล้ออัตราปัจจุบัน 80 บาท ปรับเพิ่ม 25 บาท เป็น 105 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ อัตราปัจจุบัน 115 บาท ปรับเพิ่ม 35 บาท เป็น 150 บาท
@เงื่อนไขสัญญากำหนดชัดเจนปรับขึ้นทุก5ปี
นายสรพงศ์ไพฑูรย์พงษ์รองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานบอร์ดกทพ.กล่าวว่า ทางด่วนศรีรัช-วงหวนฯเป็นสัญญาแบบ B-T-Oซึ่งเอกชนชนะประมูลในวงเงินประมาณ 24,000ล้านบาทโดยรัฐไม่จ่ายเงินสนับสนุนยกเว้นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยสัญญามีเงื่อนไขปรับขึ้นค่าผ่านทางทุก 5ปีนับจากวันที่ 15ธ.ค.2559เริ่มเปิดบริการซึ่งรัฐไม่สามารถปฎิเสธการขึ้นค่าผ่านทางได้เพราะจเป็นข้อพิพาทในอนาคตดังนั้นกระทรวงคมนาคมและกทพ.ได้เชิญเอกชนมาหารือเพื่อขอความร่วมมือในการลดค่าครองชีพให้ประชาชนในช่วงมีผลกระทบโควิด
“ที่ผ่านมาเอกชนคุยกทพ.แล้ว2ครั้งวันนี้รมว.คมนาคมเชิญเอกชนมาหารือเองซึ่งทางเอกชนยินดีสนับสนุนในรุปแบบส่งเสริมการตลาดสำหรับผู้ใช้ทางผ่านระบบคูปองจในอัตราเท่าเดิม ซึ่งเอกชนแจ้งว่าตามสัญญากำหนดการปรับค่าผ่านทางหากไม่ปรับราคา จะกระทบต่อผู้ลงทุนของบริษัทได้”