xs
xsm
sm
md
lg

15 ธ.ค.นี้ปรับค่าผ่านทางด่วน “ศรีรัช-วงแหวนฯ” รถ 4 ล้อขึ้น 15 บาท-กทพ.จ่อคุย BEM ออกแคมเปญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด กทพ.รับทราบขึ้นค่าผ่านทาง “ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก” ตามสัญญา 15 ธ.ค. 64 รถ 4 ล้อ/6-10 ล้อ/มากกว่า 10 ล้อ เพิ่มเป็น 65/105/150 บาท ตามลำดับ “ผู้ว่าฯ กทพ.” เตรียมหารือ BEM ออกแคมเปญช่วย ปชช. ด้านเอกชนยื่นเยียวยา ชี้ปริมาณจราจรเหลือ 5 หมื่นคัน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ที่มี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน วันที่ 20 ต.ค. ได้รับทราบตามที่ กทพ.เสนอการปรับค่าผ่านทางโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ข้อ 11.4 ที่กำหนดให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางทุก 5 ปี นับจากเปิดโครงการเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2559 ซึ่งจะครบ 5 ปีในวันที่ 15 ธ.ค. 2564

ตามร่างประกาศกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราค่าผ่านทางโครงการทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ สำหรับรถ 4 ล้อ อัตราปัจจุบัน 50 บาท ปรับเพิ่ม 15 บาท เป็น 65 บาท รถ 6-10 ล้อ อัตราปัจจุบัน 80 บาท ปรับเพิ่ม 25 บาท เป็น 105 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ อัตราปัจจุบัน 115 บาท ปรับเพิ่ม 35 บาท เป็น 150 บาท

ทั้งนี้ บอร์ด กทพ.ได้มีข้อห่วงใยจากสถานการณ์โรคโควิด-19 และภาวะทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงมีข้อสั่งการให้ กทพ.ไปดำเนินการหารือกับเอกชนคู่สัญญาเพื่อร่วมกันหามาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น อาจจะชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทางออกไปก่อน หรือจัดทำแคมเปญทางการตลาด กรณีดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่มีการปรับขึ้นค่าผ่านทาง ซึ่งได้จัดแคมเปญเป็นคูปองเพื่อลดภาระผู้ใช้ทาง เป็นต้น ซึ่งเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา กทพ.ได้มีการหารือกับ BEM แล้วครั้งหนึ่งเพื่อขอให้บริษัทพิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชน และจะนัดหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ตามที่บอร์ด กทพ.มีความห่วงใย หากได้ข้อสรุปอย่างไรจะต้องนำเสนอบอร์ด กทพ.พิจารณาอนุมัติในการประชุมเดือน พ.ย. 2564

“เราคุยกับทาง BEM แล้วเมื่อ 11 ต.ค. ทางบริษัทยินดีให้ความร่วมมือ แต่อาจจะคิดแคมเปญไม่ทัน ซึ่งเราเห็นใจ บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดเช่นกัน เนื่องจากปริมาณจราจรมีประมาณ 50,000 คันต่อวัน ต่ำกว่าตัวเลขในสัญญาที่คาดว่าจะมี 80,000 คันต่อวัน ซึ่ง BEM ได้มีหนังสือถึง กทพ.สงวนสิทธิ์ในการปรับค่าผ่านทางตามสัญญา และขอรับการเยียวยาเนื่องจากรายได้หายไปเกือบ 50% เป็นเรื่องที่เอกชนต้องแบกรับอยู่ ซึ่งยอมรับว่าอาจทำให้การเจรจายากแต่ กทพ.จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่”

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นโครงการที่เอกชนลงทุน 100% อายุสัมปทาน 30 ปี มีการกำหนดปรับอัตราค่าผ่านทางทุก 5 ปีในอัตราคงที่ ซึ่งหนักใจแต่ไม่มากนัก เพราะเรื่องนี้เป็นการปฏิบัติตามสัญญา และเอกชนเองได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน คงต้องหารือถึงวิธีการ รูปแบบร่วมกัน นอกจากนี้ กทพ.จะประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบในการปรับขึ้นค่าผ่านทาง ว่าเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา โดยจะพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งในการปรับค่าผ่านทางที่ผ่านมาในอดีตมีบทเรียน กรณีที่ไม่ได้ตกลงร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายทำให้เกิดการฟ้องร้องเป็นค่าโง่ขึ้น

โดยโครงการทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เปิดเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 โดยสัญญาข้อ 11.2 กำหนดอัตราค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ รถ 6-10 ล้อ รถมากกว่า 10 ล้อ ไว้ที่ 50, 80, 115 บาท และกำหนดปรับค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี ในอัตรา 15, 25, 35 บาท ตามสัญญาข้อ 11.4+ ภาคผนวก 10 โดยจะมีการปรับค่าผ่านทาง 5 ครั้ง ในวันที่ 15 ธ.ค. 2564 อัตรา 65, 105,150, วันที่ 15 ธ.ค. 2569 อัตรา 80, 130, 185, วันที่ 15 ธ.ค. 2574 อัตรา 95, 155, 220, วันที่ 15 ธ.ค. 2579 อัตรา 110, 180,255, วันที่ 15 ธ.ค. 2584 อัตรา 125, 205, 290



นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)


กำลังโหลดความคิดเห็น