xs
xsm
sm
md
lg

"สนธิ" เผยโครงการท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ตัวอย่างของการพัฒนาที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ประธานคณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 เผยโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ตัวอย่างของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้ชุมชนเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาท่าเรือ สร้างความไว้วางใจและพัฒนาไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายสนธิ คชวัฒน์ ประธานคณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 เปิดเผยว่า ท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 จะเริ่มทำการก่อสร้างในต้นปี 2565 ใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ใช้เวลาการก่อสร้างประมาณ 4 ปี คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี 2568 รองรับตู้สินค้าได้สูงสุดถึง 18.1 ล้านตู้ต่อปี


โดยบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างคือ บริษัท CNNC ได้เริ่มก่อสร้างอาคารสำนักงานและแคมป์คนงานซึ่งคาดว่าจะรับคนงานประมาณ 513 คน โดยกำหนดให้รับคนในพื้นที่เข้าทำงานก่อน นอกจากนี้ การท่าเรือได้จ้างบริษัท TTE มาเป็นคนกลางในการเฝ้าระวังและตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานอีเฮชไอเอ รวมทั้งจ้างบริษัท UAE ทำตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งตั้งแต่ท่าเรือแหลมฉบัง จนถึงเมืองพัทยา เพื่อหามาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อไป

นอกจากนี้ การท่าเรือได้ให้บริษัทที่ปรึกษาที่ควบคุมงานและบริษัทก่อสร้างลงพื้นที่ชุมชนทำการประชาสัมพันธ์และรับฟังข้อเสนอแนะของชุมชนก่อนดำเนินการก่อสร้างเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ไม่มีความขัดแย้งกับชุมชนในพื้นที่ ตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กำหนดให้การท่าเรือต้องพัฒนาชุมชนโดยรอบให้เจริญเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้น จึงมีมติให้ท่าเรือแหลมฉบังตั้ง “มูลนิธิชุมชนท่าเรือร่วมใจ” ขึ้นมาเพื่อทำการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบังโดยให้ชุมชนโดยรอบทั้ง 39 ชุมชน เติบโตไปพร้อมกับท่าเรือแหลมฉบัง ได้แก่ ชุมชนเทศบาลนครแหลมฉบัง ชุมชมเทศบาลตำบลบางละมุง และชุมชนเทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย


โดยตั้งกองทุนขึ้น 2 กองทุน คือ กองทุนสนับสนุนการพัฒนาชุมชน โดยมีงบประมาณเพื่อพัฒนาชุมชนปีละ 7.8 ล้านบาท โดยโครงการที่เสนอต้องไม่ซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งงบประมาณของหน่วยงานราชการ และกองทุนเยียวยาความเสียหายจากก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 โดยก่อนทำการก่อสร้างกำหนดให้บริษัทที่รับก่อสร้างต้องวางเงินมัดจำไว้ จำนวน 53 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับจ่ายชดเชยกรณีการก่อสร้างก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยรอบ จะได้นำเงินดังกล่าวมาใช้ได้เลยโดยไม่ต้องไปรอฟ้องศาล หากครบ 4 ปี เงินเหลือเท่าไหร่จึงจ่ายคืนผู้รับเหมากลับไป


นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ท่าเรือแหลมฉบัง จัดสรรงบประมาณและทุนให้แก่เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ได้แก่ 1.ทุนเรียนดียั่งยืนจำนวน 30 ทุนต่อปี เป็นค่าเล่าเรียนสำหรับนักศึกษาที่อยู่ในชุมชนและเรียนในระดับอุดมศึกษาของรัฐโดยมีเกรดเฉลี่ยในแต่ละเทอมไม่ต่ำกว่า 2.7 ซึ่งการท่าเรือจะส่งให้เรียนจนจบการศึกษา 2.ทุนคนดีลูกน้ำเค็มสำหรับเยาวชนในชุมชนที่คณะกรรมการชุมชนหรือหมู่บ้านคัดมาแล้วว่าเป็นคนดี ชุมชนละ 5 ทุน ทุนละ 5,000 บาทต่อปี


3.จัดสรรงบประมาณ 300,000 บาท เป็นค่าอาหารกลางวันแก่โรงเรียนผู้สูงอายุไร่หนึ่ง ซึ่งมีผู้สูงอายุมาร่วมเรียนและทำกิจกรรมสัปดาห์ละ 1 วันซึ่งมีจำนวนถึง 102 คน 4.จัดครูสอนภาษาอังกฤษแก่โรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ 39 ชุมชน รวมทั้งจัดจ้างครูสอนตนตรีแก่เยาวชนโรงเรียนต่างๆ 5.ชดเชยพื้นที่ทำกินในทะเลให้แก่กลุ่มประมงพื้นบ้านและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลอย่างเป็นธรรม ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท

"การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 จึงถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ยั่งยืนโดยให้ชุมชนเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาท่าเรือ สร้างความไว้วางใจและพัฒนาไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" นายสนธิ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น