xs
xsm
sm
md
lg

TFM ปิดเทรดวันแรกเหนือจอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ ปิดเทรดวันแรกเหนือจอง 1.00 บาท หรือ +7.41% ผู้บริหารเผยเตรียมนำเงินไปใช้ขยายงาน ชำระหนี้และเป็นทุนหมุนเวียน พร้อมเดินหน้าเพิ่มสายการผลิตอาหารสัตว์น้ำเพิ่มเติมอีก 2 สายการผลิต ดันกำลังผลิตเพิ่มหนุนให้รายได้ปี 65 เพิ่มขึ้นแตะระดับ 5,000 ล้านบาท

หุ้นบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM เข้าซื้อขายเป็นวันแรกพบว่าเปิดตลาดราคาหุ้นอยู่ที่ 15.70 บาท เหนือจอง 2.2 บาท หรือ 16.3% จากราคาไอพีโอ (IPO) ที่กำหนดไว้หุ้นละ 13.50 บาท ระหว่างวันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 16.80 บาท ต่ำสุดที่14.20 บาท เมื่อปิดตลาดราคาหุ้นอยู่ที่ 14.50 เพิ่มขึ้น 1.00 บาท หรือ +7.41% มูลค่าซื้อขาย 4,565.81 ล้านบาท

นายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM เผยว่า บริษัทฯ ได้นำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรก (29 ต.ค.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวดธุรกิจการเกษตร โดยใช้ชื่อย่อ 'TFM' ในการซื้อขายหลักทรัพย์ เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของบริษัทฯ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมานานกว่า 20 ปี สั่งสมองค์ความรู้ รวมถึงมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตสินค้า ทำให้บริษัทฯ ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เศรษฐกิจของไทยที่มีคุณภาพและมีแบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับ ทำให้ TFM เป็นหุ้น IPO น้องใหม่ที่นักลงทุนให้ความสนใจ

ทั้งนี้ หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทฯ มีแผนสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อปักธงสู่ผู้นำในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เศรษฐกิจ โดยในปี 2564-2566 คาดจะใช้เงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ จำนวน 1,177.4 ล้านบาท แบ่งเป็นการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซีย โดยบริษัทย่อย TUKL มีแผนที่จะลงทุนในสายการผลิตอาหารสัตว์น้ำเพิ่มเติมอีก 2 สายการผลิต ซึ่งจะเป็นผลให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 36,000 ตันต่อปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 250 ล้านบาท ภายในปี 2566 อีกทั้งนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 250-350 ล้านบาท ภายในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) หลัง IPO ต่ำกว่า 1 เท่า และ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 65 จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 5,000 ล้านบาท โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัวที่ส่งผลให้ร้านอาหาร การบริโภคกลับมามากขึ้น โดยจะช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมปศุสัตว์กลับมาฟื้ตัวด้วย

และยังจะรับรู้รายได้จากธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียและปากีสถานเข้ามาเต็มปี พร้อมกันนั้น บริษัทยังมีการรับรู้รายได้ต่อเนื่องจากการขยายตลาดไปยังประเทศที่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำมีศักยภาพในการเติบโตสูง ผ่าน Model ธุรกิจที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 25% ภายในระยะเวลา 3 ปี ต่อจากนี้ จากปีนี้ที่มีสัดส่วนรายได้เพียง 3% เท่านั้น

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์จากการประมาณการเบื้องต้น TFM มีมูลค่าที่เหมาะสมในปี 65 ที่ 16.6 บาท (อิงบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งที่มีลักษณะการดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกันแต่ให้พรีเมียมจากอัตราทำกำไรของ TFM สูงกว่าค่าเฉลี่ย และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่า ที่ P/E 15 เท่า) จากคาดรายได้เติบโตเฉลี่ยปี 64-65 ที่ 17.33% หนุนโดยการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ และรายได้จากต่างประเทศซึ่งมีการเติบโตในปี 65 ประมาณ 156.6% จากการรับรู้รายได้เต็มปีของโรงงานในอินโดนีเซีย (TUKL) และจากการขยายกำลังการผลิตในปากีสถาน(AMG-TFM) เพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ตัน

ประกอบกับอัตรากำไรคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับเดิมจากราคาวัตถุดิบหลัก อย่างเช่น กากถั่วเหลือง มีแนวโน้มลดลง และไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ (โดยอัตรากำไรที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 64 มาจากราคาวัตถุดิบหลักที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะที่ยังคงราคาขายเท่าเดิม และ SG&A ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากค่าขนส่ง) สำหรับการเติบโตในระยะยาวของ TFM คาดว่าจะถูกหนุนโดยการขยายตัวไปยังต่างประเทศมากขึ้น จากเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศที่ 25% ภายใน 5 ปี ซึ่งจะช่วยหนุนของบริษัทสู่ระดับ 8 พันล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังของ TFM คือ ราคาของวัตถุดิบที่อาจปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับ TFM ดำเนินธุรกิจโดยการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจ โดยผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทฯ ได้แก่ อาหารกุ้ง อาหารปลา (รวมอาหารกบและอาหารปู) และอาหารสัตว์บก เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์ ฐานลูกค้าสำคัญเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศ และแบ่งกลุ่มลูกค้าหลักเป็น 2 กลุ่ม คือ ร้านค้าจำหน่ายอาหารสัตว์ ซึ่งซื้ออาหารสัตว์เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่กลุ่มเจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ที่เลี้ยงกุ้งและปลาที่มีฐานลูกค้าของตนเอง (สัดส่วนการขายคิดเป็น 71-77%) และฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ ซึ่งซื้ออาหารสัตว์เพื่อนำไปใช้เป็นอาหารสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ภายในฟาร์มของตนเอง (สัดส่วนการขายคิดเป็น 23-29%)


กำลังโหลดความคิดเห็น