GULF ตั้งงบลงทุน 10 ปีข้างหน้า 74,000 ล้านบาทเพื่อขยายธุรกิจ ส่วนใหญ่ใช้ลงทุนพลังงานหมุนเวียนถึง 62% คิดเป็นวงเงิน 46,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดรับเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจาก 7% เป็นไม่ต่ำกว่า 30% ในปี 2573 อัดงบลงทุนปีหน้า 1 หมื่นล้านบาท แย้มต้นปี 65 ปิดดีล M&A
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุน 10 ปีข้างหน้า (2565-2574) อยู่ที่ 74,000 ล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนธุรกิจที่ได้อนุมัติแล้ว ไม่รวมโครงการที่จะควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนราว 46,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 62% ของงบลงทุน เพื่อใช้ในโครงการโซลาร์รูฟท็อป โครงการพลังลมแม่โขงที่เวียดนาม โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ลาวคือ โครงการ Pak Beng กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ และโครงการ Pak Lay กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้ากับ กฟผ.ได้ภายในสิ้นปี 2564 สอดรับเป้าหมายบริษัทที่การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากปัจจุบันอยู่ที่ 7% เป็นไม่ต่ำกว่า 30% ในปี 2573
ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซฯ ใช้เงินลงทุน 17,000 ล้านบาท คิดเป็น 23% ของงบลงทุน ใช้ในโรงไฟฟ้า IPP 5,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าหินกอง โรงไฟฟ้าบูรพา และโรงไฟฟ้า Duqm ประทศโอมาน ส่วนที่เหลืออีก 15% หรือราว 11,000 ล้านบาทใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่นโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุด และโครงการมอเตอร์เวย์
โดยในปี 2565 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนโครงการต่อเนื่องตามแผนงานที่วางไว้ โดยไม่รวมเงินการควบรวมหรือซื้อกิจการ ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาหลายโครงการที่จะทำ M&A ซึ่งมีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 10,000-30,000 ล้านบาทต่อโครงการ คาดว่าไตรมาสแรกปี 2565 จะมีความชัดเจน
สำหรับแหล่งเงินทุน มาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน การออกหุ้นกู้ ซึ่งในต้นปี 2565 บริษัทมีแผนออกหุ้นอีก 20,000 ล้านบาทเพื่อใช้คืนหนี้เงินกู้ในการซื้อหุ้นบมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และใช้ในการขยายธุรกิจ จากปีนี้บริษัทได้ออกหุ้นไปแล้ว 30,000 ล้านบาทที่เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) โดยหุ้นกู้มีอายุเฉลี่ย 6 ปี ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.5%
นางสาวยุพาพินกล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 60% เนื่องจากจะมีการทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ เอสอาร์ซี (GSRC) หน่วยที่ 3-4 ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,325 เมกะวัตต์ (MW) โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือน มี.ค.และ ต.ค. 2565 และโครงการโซลาร์รูฟท็อปที่จะทยอยแล้วเสร็จอีก 90 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังลม ขนาด 128 เมกะวัตต์ที่เวียดนามที่เดินเครื่องเต็มปี
ในวันที่ 25 พ.ย.นี้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วย กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด) ลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย และบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด
นางสาวยุพาพิน GULF ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ Singapore Telecommunications Limited (Singtel) เพื่อร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย โดยร่วมลงทุนในสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากันที่ 50% เนื่องจากธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยมีศักยภาพเติบโต 6-7 เท่าภายใน 10 ปีข้างหน้าจากเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการในการจัดเก็บและจัดการข้อมูลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยบริษัทมีศักยภาพด้านการผลิตและขายไฟให้ Data Center ขณะที่ Singtel มีจุดแข็งจากเทคโนโลยีด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และสามารถดึงดูดฐานลูกค้าชั้นนำทั้งจากองค์กรในประเทศและกลุ่มลูกค้าไฮเปอร์สเกลเลอร์ (Hyperscalers) เช่น Facebook, Google และ Microsoft เป็นต้น
สำหรับการเข้าลงทุนในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ทำให้บริษัทรับรู้กำไรเข้ามาปีละ 4,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาที่จะ Synergy เพื่อต่อยอดธุรกิจร่วมกัน
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,588.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 970.36 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 13,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากไตรมาส 3 ปี 2563 จากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1 ที่เปิดดำเนินการในไตรมาส 1 ปี 2564 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่ประเทศเยอรมนี ที่รับรู้รายได้ครั้งแรกในไตรมาส 4 ปี 2563 นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายไฟฟ้าและไอน้ำของโครงการโรงไฟฟ้า 12 SPP และรายได้เงินปันผลรับจาก INTUCH อีกด้วย ขณะที่รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ GTN1 และ GTN2 ที่ประเทศเวียดนาม ลดลงเล็กน้อยจากการจำกัดการรับซื้อไฟฟ้าชั่วคราว เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดสูงของ COVID-19 และมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเวียดนาม
ส่วนงวด 9 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,626.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,437.94 ล้านบาท