กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยญี่ปุ่นเตรียมอนุญาตให้นำเข้าส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งจากไทยเพิ่มเติม คาดมีผลบังคับใช้ปี 65 ส่วนเกาหลีใต้เตรียมลดภาษีนำเข้าทุเรียนและมังคุดเหลือ 0% ใน 10 ปี หลัง RCEP บังคับใช้ พร้อมจัดเจรจาจับคู่ออนไลน์ทั่วโลก 16-17 ธ.ค.นี้ เพิ่มโอกาสส่งออกผลไม้
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยถึงผลการจัดสัมมนา “สินค้าผลไม้ไทยบุกตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้” ผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรสินค้าผลไม้ไทยเข้าใจการส่งออกสินค้าผลไม้ไปยังตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดหลักสำหรับผลไม้พรีเมียมของไทย โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 300 ราย เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับแจ้งข่าวดีจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ว่าญี่ปุ่นจะอนุญาตให้นำเข้าส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งจากไทยเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามเร่งรัดกระทรวงเกษตรญี่ปุ่นในขั้นตอนสุดท้าย คาดว่าจะมีผลในปี 2565 ที่จะถึงนี้ ถือเป็นผลดีต่อส้มโอของไทยที่จะเปิดตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ได้ให้ข้อมูลและโอกาสในการส่งออกผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้ โดยเกาหลีใต้จะลดภาษีนำเข้าทุเรียนและมังคุดลงเหลือ 0% ภายในระยะเวลา 10 ปี หลังจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะเป็นโอกาสดีของไทยที่จะส่งออกทุเรียนและมังคุดเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าของผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศ กรมฯ มีแผนที่จะจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้สดและแปรรูปผ่านทางระบบออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) กำหนดไว้วันที่ 16-17 ธ.ค. 2564 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ และเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 26 พ.ย. 2564
สำหรับผลไม้ เป็นสินค้าเป้าหมายในการส่งออกและทำรายได้ให้แก่ประเทศอีกตัวหนึ่ง โดยในช่วง 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 161,256.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.28% และตั้งเป้าหมายส่งออกผลไม้ทั้งปีไม่ต่ำกว่า 180,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% โดยตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของผลไม้พรีเมียมของไทย มียอดส่งออกรวมกันถึง 1,812.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.09% โดยผลไม้ยอดนิยม คือ มะม่วง กล้วย ทุเรียน และมังคุด
ส่วนแผนผลักดันการส่งออกผลไม้ในปี 2565 ที่กรมฯ จะดำเนินการตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีดังนี้ 1. กิจกรรมเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ทางระบบออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Online Business Matching (OBM) 2. การจัดงานส่งเสริมการบริโภคผลไม้ระดับนานาชาติในรูปแบบ Hybrid เช่น งาน THAIFEX - ANUGA Asia 3. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้าและในตลาดสำคัญในต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า In Store Promotion 4. การจัดกิจกรรม Thai Fruits Golden Months ในประเทศต่างๆ และ 5. การจัดกิจกรรมขายผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มสำคัญๆ ระดับโลก เช่น Rakuten และ Yahoo ในญี่ปุ่น Coupang, SSG, Naver, Interpark, Gmarket และ 11st (11STREET) ในเกาหลีใต้ Bigbasket ของอินเดีย และ Tmall ของจีน เป็นต้น