xs
xsm
sm
md
lg

รบ.มั่นใจเจรจา CPTPP ประเทศไม่เสียเปรียบ เป็นโอกาสภาคการเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลให้ความมั่นใจการเจรจา CPTPP ประเทศไม่เสียเปรียบ เป็นโอกาสภาคการเกษตร “เฉลิมชัย” ชี้ แนวทางปกป้องเกษตรกรไทย

วันนี้ (22 พ.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ต่อกรณีที่รัฐบาลกำลังพิจารณาเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership :CPTPP) นั้น นายกรัฐมนตรีตระหนักดีถึงผลกระทบเชิงบวกและลบที่จะเกิดขึ้น และพร้อมรับฟังข้อห่วงกังวลจากภาคส่วนต่างๆ ที่ผ่านมา ได้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและข้อเสนอแนะจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่การเจรจาจะเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ ได้มีแนวทางการกำหนดเงื่อนไขของการเจรจาที่จะช่วยสร้างผลประโยชน์และดูแลทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร ผู้ประกอบการทุกขนาด แรงงาน ประชาชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่การตัดสินใจว่าจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ เป็นเพียงการพิจารณาไปเจรจา ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างต้องทำอย่างรอบคอบ และเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของไทย

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า CPTPP จะเพิ่มโอกาสการส่งออกของสินค้าไทย ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เนื่องจากเป็นการขยายเขตการค้าเสรีและการให้สิทธิพิเศษกับสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศสมาชิก ในส่วนของสินค้าเกษตรที่จะได้ประโยชน์อย่างมากจากการเข้าร่วม อาทิ ยาง ผลไม้ และเน้ือสัตว์ ส่วนข้อห่วงกังวลถึงผลกระทบนั้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันความพร้อมในการร่วมเจรจาความตกลงดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ได้ศึกษาในรายละเอียด ผลดี ผลเสีย และความพร้อมของไทยมาโดยตลอด การดำเนินการทุกอย่างต้องไม่ให้ภาคการเกษตรเสียเปรียบ และยึดผลประโยชน์เกษตรกรเป็นหลัก และหากในที่สุด ไทยตัดสินใจเข้าร่วม กระทรวงฯจะดำเนินการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน ทั้งด้านวิชาการ ระยะเวลา เทคโนโลยี งบประมาณ และบุคลากร ส่วนประเด็นที่ไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ หรืออาจทำให้เกิดความเสียเปรียบ จะตั้งข้อสงวนไว้เบื้องต้นในการเจรจาได้

ประเด็นที่มีการหยิบยก อาทิ 1) ด้านพันธุ์พืช ที่กำหนดให้ประเทศเข้าร่วมจะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญา UPOV1991 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า เกษตรกรจะไม่สามารถเก็บส่วนขยายพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ และเมล็ดพันธุ์พืชของไทยถูกผูกขาดทางการค้า ซึ่งกระทรวงได้กำหนดประเด็นที่จะเจรจาขอสงวนสิทธิ์ไว้ หรือขอเว้นการปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นสำคัญ เช่น การขอระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนจะปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ การกำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ตามวิถีดั้งเดิมของเกษตรกร และอยู่ภายใต้ความเหมาะสมของบริบทประเทศไทย

2) ด้านการค้า ที่จะมีการยกเลิกหรือลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในระดับที่สูงมากถึงร้อยละ 95-100 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรของไทยที่มีศักยภาพทางการแข่งขันน้อย แนวทางดูแลเกษตรกรคือการเจราเพื่อให้มีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย โดยประเทศสมาชิก CPTPP บางประเทศได้ขอใช้ระยะเวลาในการลดภาษีนานถึง 21 ปี

3) การยกเว้นการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ หรือ Special Safeguard (SSG) หรือการอนญาตให้เก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่เพิ่มขึ้นกรณีมีการนำเข้าสินค้าเกษตรสูงกว่าปริมาณที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีข้อผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับสินค้าเกษตร 23 รายการ และจะนำ SSG มาใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ปี 2563 และ 2564 มีการนำเข้ามะพร้าวเกินกว่าระดับปริมาณนำเข้าที่กำหนด จึงได้มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การเจรจาในประเด็นด้านการค้า กระทรวงเกษตรฯ จะขอตั้งข้อสงวนการบังคับใช้มาตรการ SSG ของไทยไว้

“ข้อตกลง CPTPP นั้น มีประโยชน์และผลด้านลบที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ข้อกำหนดหลายอย่างสามารถเจรจาต่อรองก่อนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ และรัฐบาลได้เตรียมนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไปพร้อมๆ กัน ขณะที่ข้อกำหนดบางเรื่องเป็นกฎที่เปิดโอกาสให้ประเทศสามารถปฏิรูปสถาบันเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการสนับสนุนการเติบโตระยะยาว ท่านนายกฯย้ำว่า การเข้าร่วมเจรจาเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่คนไทย การเข้าร่วมเจรจาครั้งนี้ยังไม่ได้หมายถึงการตกลงเข้าร่วมในทันที” รองโฆษกฯ รัชดา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น