ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 64 แตะ 82.1 สูงสุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าแตะ 95.0 สูงสุดในรอบ 19 เดือน จากปัจจัยหลักรัฐคลายล็อกดาวน์ เดินหน้าเปิดประเทศ 1 พ.ย.รับท่องเที่ยวต่างชาติ มาตรการกระตุ้น ศก.รัฐ แต่ยังกังวลสถานการณ์ราคาน้ำมัน การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แนะรัฐเร่งแก้ไขราคาพลังงาน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 82.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 79.0 ในเดือนกันยายน 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาคและสูงสุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 95.0 จากระดับ 93.0 ในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งเป็นค่าดัชนีฯ ที่ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 19 เดือน โดยผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งนโยบายเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 รับการท่องเที่ยวจากต่างชาติ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก
“ดัชนีเชื่อมั่นฯ ต.ค.ที่ปรับขึ้นเกือบทุกรายการ ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีทิศทางดีขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง ขณะที่จำนวนผู้ได้รับวัคซีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินค้าคงทน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ เครื่องจักรกลและโลหการ เป็นต้น รวมถึงสินค้าไม่คงทนประเภทอาหารและยา นอกจากนี้ เริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าแฟชั่น ส่งผลให้ดัชนีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการภาครัฐยังช่วยพยุงกำลังซื้อในประเทศ” นายสุพันธุ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้กระทบต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ขณะที่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้นำเข้า รวมทั้งปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือสูงยังเป็นปัจจัยกดดันผู้ส่งออก
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 70.3, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 54.8 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 47.5 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 60.2, เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 62.1, สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 48.5 และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐร้อยละ 32.8 ตามลำดับ
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1. เร่งรัดการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนตามเกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยเฉพาะจังหวัดที่เปิดรับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2. ภาครัฐควรมีแผนรองรับการเปิดประเทศ และมาตรการด้านสาธารณสุขที่ชัดเจน เพื่อให้การเปิดประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนรับทราบเพื่อสร้างความเข้าใจ
3. เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้มาตรการควบคุมโรคเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4. ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการภาคอุตสาหกรรม