ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปีกับการบริหารงานในกระทรวงพาณิชย์ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หลังจากที่ได้เข้ามาทำงานเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2562 พร้อมกับภารกิจสำคัญที่ต้องการจะผลักดัน คือ โครงการประกันรายได้เกษตรกร การขับเคลื่อนการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ค้างท่อ โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
ผลการทำงานในปี 2562 ภารกิจที่นายจุรินทร์ต้องการขับเคลื่อนหลังจากเข้ามาทำงานประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการประกันรายได้ ที่สามารถผลักดันให้โครงการเดินหน้าได้ก่อนสิ้นปี 2562 การผลักดันการส่งออกให้กลับมาฟื้นตัวจากผลกระทบของสงครามการค้าที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น แม้การส่งออกภาพรวมจะยังคงติดลบอยู่ การดูแลราคาสินค้าเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนที่ทำได้ต่อเนื่อง และการผลักดันการเจรจา RCEP ที่มีแนวโน้มว่าจะทำได้สำเร็จ
พอย่างเข้าสู่ปี 2563 นายจุรินทร์ได้เพิ่มภารกิจที่ต้องการจะขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก แต่มีภารกิจหลักที่ต้องการเน้น ยังคงเป็นเรื่องการฟื้นฟูการส่งออก โดยได้สวมบทหัวหน้าทีมเซลส์แมนออกไปขายสินค้าใน 18 ประเทศเป้าหมาย เริ่มต้นที่จีน อินเดีย สหรัฐฯ ตุรกี เยอรมนี กำลังทำรายได้เข้าประเทศได้เป็นอย่างมาก และกำลังจะลุยต่อ แต่ก็มาเจอโควิด-19 ระบาดเสียก่อน ทำให้ต้องปรับแผนทำงานกันใหม่
ทั้งนี้ ยังได้ริเริ่มการเจรจา FTA รูปแบบใหม่ ที่จะเน้นการเจรจาลงลึกเป็นรายมณฑลหรือรายรัฐในประเทศเป้าหมาย หรือที่เรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า Mini FTA ส่วนโครงการประกันรายได้ก็ยังเดินหน้าต่อเข้าสู่ปีที่ 2 และมีการดำเนินโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” เพื่อดูแลค่าครองชีพ รวมทั้งประสบความสำเร็จในการลงนาม RCEP ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน และมีการปรับแผนการส่งเสริมการส่งออกในรูปแบบออนไลน์ ทั้งการจัดงานแสดงสินค้าและการเจรจาธุรกิจออนไลน์
ปี 2564 ประกาศลุย 14 ภารกิจ
เริ่มต้นปี 2564 นายจุรินทร์ได้ประกาศนโยบายการทำงาน โดยเน้นใน 14 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ 1. โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 2. โครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน 3. นโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด 4. โครงการอาหารไทย อาหารโลก 5. ผลักดันการค้าออนไลน์ในทุกระดับ 6. พัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้ภาคบริการ 7. พัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้ภาคการผลิตฐานราก ทั้ง SMEs และ Micro SMEs 8. เร่งรัดการส่งออกในยุค New Normal ผ่านงานแสดงสินค้าในรูปแบบไฮบริด และ Mirror Mirror และช่วยแก้ปัญหาการค้า 9. เดินหน้าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเชิงรุก 10. เร่งรัดการเจรจาการค้าเพื่อขยายการค้าของไทยไปยังตลาดโลกในทุกรูปแบบ 11. ผลักดันจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทำระบบแจ้งเตือนกรณีสิทธิบัตรที่จะหมดอายุ ลดระยะเวลาการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้สั้นลง 12. การให้บริการภาคธุรกิจและประชาชนเชิงรุกด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ 13. ทำงานร่วมกับราชการและเอกชนในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ และ 14. เดินหน้าให้บริการประชาชนแบบบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว มีทั้งสิ้น 85 บริการ
ประกันรายได้ช่วยเกษตรกร 7.85 ล้านครัวเรือน
หลังจากนายจุรินทร์ประกาศเดินหน้านโยบายการทำงาน ปรากฏว่าโครงการประกันรายได้สามารถทำสำเร็จได้ลุล่วงจบโครงการปี 2 และกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว 3 สินค้า คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงินดำเนินการ 27,000 ล้านบาท ส่วนยางพารา และปาล์มน้ำมัน กำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.
โดยผลการดำเนินโครงการมีเกษตรกรได้ประโยชน์รวม 7.85 ล้านครัวเรือน แยกเป็นข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน ยางพารา 1.83 ล้านครัวเรือน มันสำปะหลัง 0.52 ล้านครัวเรือน ปาล์มน้ำมัน 0.37 ล้านครัวเรือน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 0.45 ล้านครัวเรือน
ขับเคลื่อนส่งออกเชิงรุกดันยอดพุ่ง
การส่งออกในปี 2564 มีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกสำคัญปัจจัยหนึ่ง ก็คือ การจัดตั้ง “กรอ.พาณิชย์” ที่นายจุรินทร์ตั้งใจให้เป็นเวทีการทำงานระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน โดยให้เอกชนเป็น “กองหน้า” พาณิชย์เป็น “กองหนุน” มีผลงานที่ร่วมกันผลักดันให้เป็นผลสำเร็จ เช่น การแก้ปัญหาโลจิสติกส์การส่งออกผลไม้ การแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ การผลักดันเปิดด่านการค้าชายแดน การสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทยปลอดโควิด-19
นอกจากนี้ ยังได้มีการทำงานในรูปแบบทีมเซลส์แมน โดยมอบเซลส์แมนประเทศทำงานร่วมกับเซลส์แมนจังหวัด ผลักดัน “สินค้าชุมชน” และ “สินค้าท้องถิ่น” ให้มีโอกาสโกอินเตอร์ ปัจจุบันมีสินค้าจากทุกภูมิภาคส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้แล้วเป็นจำนวนมาก เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมเบอร์รี ทุเรียน มะม่วง ส้มโอ กล้วยหอม ซอสปรุงรส น้ำปลา กะทิ น้ำปลาร้า หมูฝอย เครื่องประดับ
ส่วนการบุกตลาดเมืองรอง ได้ขับเคลื่อนด้วย Mini FTA มีการลงนาม MOU กับไห่หนาน (จีน) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 12,000 ล้านบาท ภายใน 2 ปี กับโคฟุ (ญี่ปุ่น) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไม่ต่ำกว่า 15,500 ล้านบาทในปี 2564 และมีแผนที่จะลงนาม MOU กับกานซู (จีน) เตลังคานา (อินเดีย) และคยองกี (เกาหลีใต้) ต่อไป
ปรากฏผลการทำงาน ตัวเลขการส่งออกในช่วง 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) ทำได้แล้วมูลค่า 199,997.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.5% เกินกว่าเป้าเกือบ 4 เท่าตัว (เป้าหมายการส่งออกปี 2564 อยู่ที่ 4%)
ลุยตลาดออนไลน์เต็มสูบ
สำหรับการขยายตลาดส่งออกท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ได้ใช้ช่องทางออนไลน์ เข้ามาช่วยเสริม โดยมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจในช่วง 2 ปี (25 ก.ค. 2562-30 ก.ย. 2564) รวม 94,822.17 ล้านบาท เอกชนส่งมอบแล้ว 57,176.63 ล้านบาท คิดเป็น 60.305%, ขายสินค้าผ่าน Thaitrade.com มีมูลค่าสั่งซื้อ 2,322 ล้านบาท, ขายสินค้าผ่านงานแสดงสินค้าและคณะผู้แทนการค้าทั้งในและต่างประเทศ มีผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมกว่า 13,138 ราย สร้างมูลค่าการสั่งซื้อกว่า 161,756 ล้านบาท และจัดส่งเสริมการค้าในรูปแบบใหม่สู่ New Normal ทั้งงานแสดงสินค้าในรูปแบบไฮบริด Mirror Mirror และเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ สร้างรายได้กว่า 158,113 ล้านบาท ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยมากกว่า 14,364 ราย
ลดราคาสินค้าลดค่าครองชีพ 12 ครั้ง
ในด้านการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ได้มีการจัดทำโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” รวม 12 Lot เริ่มตั้งแต่ 16 เม.ย. 2563 ถึง 31 ก.ค. 2564 ช่วยลดภาระค่าครองชีพกว่า 4,300 ล้านบาท และในช่วงโควิด-19 ระบาดและมีการล็อกดาวน์ ได้จัด “คาราวานธงฟ้าฝ่าภัย COVID-19” ในส่วนภูมิภาค ส่งรถเร่จำนวน 685 คัน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในราคาประหยัดใน 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง (โควิด-19 ระลอกแรก) ต่อมาได้ส่งรถโมบายล์พาณิชย์ ลดราคา! ช่วยประชาชน 1,000 คันทั่วประเทศ ช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 ระลอก 3 แยกเป็นกรุงเทพฯ 50 คัน ภูมิภาค 76 จังหวัด 950 คัน มีประชาชนมาซื้อสินค้า 1,367,458 คน มูลค่าจำหน่าย 200,339,042 บาท ลดค่าครองชีพรวม 85.85 ล้านบาท
“เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ฉลุย
การขับเคลื่อนนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” นายจุรินทร์ได้ให้ความสำคัญต่อการประสานการทำงานระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อน 1 ชุด มีปลัดกระทรวงพาณิชย์กับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายในภาพรวม มีคณะอนุกรรมการอีก 4 ชุดเป็นแขนขาในการทำงาน
วันนี้ คณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดมีการทำงานคืบหน้ามาก โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) ได้จัดทำฐานข้อมูลร่วมเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาดแล้ว นำร่องสินค้ามันสำปะหลัง ต่อด้วยทุเรียน ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ได้จัดทำแพลตฟอร์มกลางช่วยเกษตรกร สหกรณ์ขายสินค้าออนไลน์ได้แล้ว โดยใช้ Thaitrade.com สำหรับขายต่างประเทศ และ Phenixbox.com สำหรับขายในประเทศ โดยมียอดขายสินค้าไปแล้วกว่า 83 ล้านบาท คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ ได้นำร่องสินค้า 2 ตัว คือ ทุเรียน และข้าว และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ได้มีการพัฒนาเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก ให้ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในสินค้าเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มข้าว พืชไร่ พืชสวน 2. กลุ่มผลไม้ 3. กลุ่มปศุสัตว์ และ 4. กลุ่มประมง
ขับเคลื่อนภารกิจ “อาหารไทย อาหารโลก”
ในการผลักดันการส่งออกสินค้าอาหาร นายจุรินทร์ได้เดินหน้าผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอาหารที่เป็นเทรนด์ใหม่ของโลก เช่น อาหารฮาลาล อาหารมังสวิรัติ อาหารออร์แกนิก อาหารฟังก์ชัน อาหารผู้สูงอายุและผู้ป่วย รวมถึงสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ผลไม้ ที่ได้มีการวางแผนในการบริหารจัดการล่วงหน้ามาแล้ว 2 ปี โดยสามารถช่วยชาวสวนได้ 6.54 แสนครัวเรือน มียอดส่งออก 8 เดือนปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) สูงถึง 169,000 ล้านบาท เพิ่ม 46.29%
ทั้งนี้ ยังได้นำนโยบายเคาน์เตอร์เทรดมาใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการหาตลาด โดยใช้วิธีขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้า สร้างมูลค่าการค้ารวม 6,607.76 ล้านบาท เป็นของปี 2563 มูลค่า 3,245.06 ล้านบาท 8 เดือนปี 2564 มูลค่า 3,362.70 ล้านบาท
ผลักดันลงนาม RCEP สร้างโอกาสการค้าไทย
ด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายจุรินทร์ได้เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้า RCEP 15 ประเทศ ผลักดันให้มีการลงนามความตกลงได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2563 ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ไทยมากมาย เพราะจะมีการยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที 29,891 รายการ หากความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าจะเริ่มใช้บังคับ ม.ค. 2565 โดยสินค้าสำคัญที่จะส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้มีการเร่งเจรจา FTA ใหม่ 5 ฉบับ กับ EU, EFTA, UK, สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และอาเซียน-แคนาดา รวมทั้งผลักดันจัดตั้งกองทุน FTA เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการบุกตลาดต่างประเทศ
1 จังหวัด 1 สินค้า GI สำเร็จลุล่วง
ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก นายจุรินทร์ได้ผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ได้ครบทุกจังหวัด ทำให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีสินค้า GI และภาพรวมมีการขึ้นทะเบียน GI แล้ว 152 รายการ สร้างมูลค่าในประเทศ 39,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ได้เดินหน้าส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา โดยผลักดันให้มีการจัดทำระบบแจ้งเตือนสิทธิบัตรใกล้หมดอายุ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถรู้ล่วงหน้าว่าสิทธิบัตรตัวไหนจะหมดอายุลงบ้าง เพื่อที่จะได้เตรียมตัว หรือเตรียมความพร้อมในการผลิตสินค้าที่สิทธิบัตรหมดอายุ เช่น สินค้ายา เป็นต้น และยังได้ลดระยะเวลาจดทะเบียน โดยการพิจารณาเครื่องหมายการค้า จาก 12 เดือน เหลือ 6 เดือน ต่ออายุเครื่องหมายการค้า จาก 60 วัน เหลือ 60 นาที และออกหนังสือสำคัญสิทธิบัตร จาก 60 วัน เหลือ 15 วัน
ดันเปิดด่านเพิ่มยอดค้าชายแดน-ผ่านแดน
ผลกระทบจากโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนและผ่านแดน เพราะมีการปิดด่านชายแดนลงหลายด่าน โดยปัจจุบันมีเปิดให้บริการอยู่แค่ 46 ด่าน จากที่มีอยู่ทั้งหมด 97 ด่าน ซึ่งนายจุรินทร์ได้ผลักดันให้มีการเปิดด่านอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นอยู่ที่ 11 ด่าน ที่เมียนมา 1 แห่ง คือ ด่านสะพานข้ามแม่น้ำแห่งที่ 1 ที่ สปป.ลาว 7 แห่ง ได้แก่ ด่านบ้านแจมป๋อง ด่าน อ.เชียงคาน ด่านบ้านหม้อ ด่านท่าเรือหนองคาย ด่านท่าเทียบเรือเทศบาลนครพนม ด่านท่าเทียบเรือมุกดาหาร และด่านบ้านปากแซง ที่กัมพูชา 1 แห่ง คือ ด่านบ้านท่าเส้น และมาเลเซีย 2 แห่ง คือ ด่านตากใบ (ท่าเรือ) และด่านบูเก๊ะตา
ผลจากการผลักดันเปิดด่าน และแก้ไขปัญหาการค้าชายแดน ทำให้ยอดการค้าชายแดนและผ่านแดนในช่วง 8 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าสูงถึง 1,118,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.18% เป็นการส่งออกมูลค่า 682,184 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.03% และนำเข้ามูลค่า 436,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.74% เกินดุลการค้ามูลค่า 246,008 ล้านบาท โดยหากเปรียบเทียบกับเป้าหมายการส่งออกทั้งปีที่ตั้งไว้ที่มูลค่า 7.89-8.12 แสนล้านบาท ขยายตัว 3-6% ถือว่ามูลค่าทำได้เกือบถึงเป้าแล้ว และเติบโตกว่าเป้าสูงถึง 6-12 เท่า
ช่วย-เสริมแกร่ง-ปั้นผู้ประกอบการรายใหม่
สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้มีโอกาสในการทำธุรกิจ นายจุรินทร์ได้เข้าไปช่วยพัฒนาเกษตรกร SMEs และ Micro SMEs ให้มีโอกาสทางการตลาด ทั้งในประเทศและส่งออก 86,103 ราย, สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ด้วยการอบรมหลักสูตรต่างๆ จำนวน 84,283 ราย, ปั้น CEO Gen Z โดยอบรมนักศึกษาเป็นผู้ประกอบการออนไลน์และส่งออกกว่า 20,674 ราย, พัฒนาโชวห่วยเป็นสมาร์ทโชวห่วย กว่า 34,572 ร้านค้า, ดันแฟรนไชน์สร้างอาชีพ เพื่อช่วยสร้างอาชีพให้คนว่างงาน ตกงาน และ SMEs ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง ตั้งเป้า 10,000 ราย มูลค่าการตลาด 4,600 ล้านบาท และช่วยยกระดับราคาเศษกระดาษให้กับซาเล้ง ช่วยไปได้กว่า 1.5 ล้านครัวเรือน
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการ “จับคู่กู้เงิน” ช่วยร้านอาหาร และ SMEs ส่งออก ให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ ช่วยให้กู้ได้สูงถึง 4,512 ล้านบาท ช่วยผลักดันการขยายตลาดทุกช่องทางให้กับดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งในและต่างประเทศ สร้างมูลค่ากว่า 8,852 ล้านบาท ส่งเสริมศิลปาชีพของคนไทย เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ผลิตและชุมชน
ขับเคลื่อนด้วยระบบออนไลน์
ในด้านการให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจ นายจุรินทร์ได้ผลักดันให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการให้บริการงานต่างๆ โดยได้มีการเปิดให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ MOC Online One Stop Service จำนวน 85 บริการ โดยสามารถขอรับบริการได้ทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.moc.go.th และยังเปิดให้บริการเช็กราคาค่ายา-ค่าบริการโรงพยาบาลเอกชน ผ่าน QR Code เพื่อเปิดเผยให้ประชาชนทราบก่อนการรักษา และสร้างความเป็นธรรมด้วย