xs
xsm
sm
md
lg

ต่อลมหายใจ เราไม่ทิ้งกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ที่ทั่วโลก และประเทศไทย ต้องใช้ชีวิต อยู่ร่วมกับอภิมหาโรคระบาดโควิด 19 การใช้ชีวิตของประชาชนนั้น ต้องปรับตัว เพื่อให้รักษาชีวิตรอด คนไทย ต้องประสบกับการล็อกดาวน์ และการคลายล็อก เพื่อควบคุมโรคระบาด อย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นกลยุทธ์ สากล ที่ใช้กันในทั่วโลก

กระนั้นแล้ว ทุกครั้งที่มีคำสั่ง ออกมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อย ล้วนได้รับผลกระทบ ประสบกับความยากลำบาก จึงได้ยินเสียงคนไทยร้องระงม เพราะทุกข์เรื่องปากท้อง แม้จะจำยอมด้วยสถานการณ์ และพยายามเอาตัวรอด แต่นี่คือช่วงเวลาที่สาหัสสำหรับคนไทยเหลือเกิน

สำหรับอาชีพ พ่อค้า แม่ขาย ที่มีเป้าหมายตามงานอีเว้นท์นั้น พวกเขาเคยมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการจำหน่ายอาหาร จำหน่ายน้ำ จำหน่ายเสื้อผ้า ฯลฯ ในงานเทศกาล ซึ่งในอดีต จัดขึ้นตลอดทั้งปี ทั่วประเทศ แต่ เมื่อมีคำสั่งเข้มงวดในการควบคุมโควิด 19 ออกมา พวกเขาคืออาชีพ ที่ต้องกุมขมับ เมื่อไม่มีงานอีเว้นท์ ไม่มีกิจกรรม ไม่มีงานประเพณี พวกเขาก็แทบสิ้นท่า หมดหนทางทำกิน

ปัจจุบัน มีพ่อค้า แม่ค้า ซึ่งประกอบอาชีพ โดยเกาะเกี่ยวกับงานมวลชน คนหมู่มากนับ 100,000 ชีวิต ที่ต้องดิ้นรน ปรับตัวให้อยู่รอดกับวิถีทางที่เปลี่ยนไป เมื่อไร้งานอีเว้นท์ พวกเขาต้องปรับการทำมาหากิน แม้จะขึ้นชื่อว่า “ขายของ” เหมือนกัน แต่การเปลี่ยนที่ทางขายของ ก็มิต่างจาก “นับหนึ่ง” ใหม่ทั้งหมด

กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่มองเห็นปัญหานี้ และพยายามหาทางแก้ไข แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยด้านสุขภาพด้วย

โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้สั่งการให้ทีม สธ. เร่งเสนอหาทางคลายล็อก เปิดพื้นที่ ให้กลุ่มอาชีพข้างต้น ได้กลับมาเดินหน้ากิจการได้อีกครั้ง 

ปัจจุบันนี้ ศบค. ผู้ตัดสินใจ ได้รับทราบแรงกระทุ้งจากกระทรวงฯ คุณหมอแล้ว ที่กระทรวงฯ เสนอไปนั้น ประกอบไปด้วย การอนุญาต ให้จัดอีเว้นท์  โดยแบ่งเป็นช่วงระยะเวลา คือ ช่วงแรกวันที่ 16 – 31 ตุลาคม 2564 เป็นการนำร่องจัดกิจกรรมได้ไม่เกิน 500 คน ระยะที่ 2 วันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2564 สามารถจัดประชุม งานมหกรรมกีฬา และงานแสดงสินค้า งดการชิมอาหาร ทั้งนี้ ไม่เกิน 500 คน และ ระยะที่ 3 วันที่ 1- 31 ธันวาคม 2564 จัดงานประเพณี งานแสดงสินค้า กิจกรรมส่งเสริมการขายในห้างและนอกห้าง และชิมอาหารได้ ไม่เกิน 1,000 คน และระยะที่ 4 วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป สามารถจัดกิจกรรมได้ตามสถานการณ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและรองรับการเปิดประเทศ เพื่อให้คนไทยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นกับ ศบค. ตัดสินใจ

เรื่องนี้ นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพิ่งได้หารือกับ สมาคมการค้า ผู้ประกอบการร้านค้าสัญจร และสมาคมผู้ประกอบการร้านค้างานประเพณีและสวนสนุก

พร้อมย้ำว่า ทางกระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเข้าใจวิกฤติ เข้าใจความทุกข์ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโรค ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้พยายามหาทางออกอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาไว้ซึ่งทุกลมหายใจของคนไทย

ไปจนถึงการต่อลมหายใจภาคเศรษฐกิจด้วย 






กำลังโหลดความคิดเห็น